กระเจี๊ยบเขียว ทานเพียวๆก็รักษาโรคได้

กระเจี๊ยบเขียวถือเป็นสินค้าส่งออกที่ให้มูลค่ามหาศาล โดยลูกค้ารายใหญ่คือประเทศญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วกระเจี๊ยบเขียวนั้นไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยแต่เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเอธิโอเปีย แต่ประเทศไทยถือว่าเป็นสวรรค์ของการปลูกเลยก็ว่าได้ เพราะอยู่ในเขตร้อน อีกทั้งยังสามารถปลูกได้ทุกภาคของไทย

กระเจี๊ยบเขียวนั้นคือสุดยอดของอาหารสุขภาพ เพราะมีกลูตาไทโอนที่ถือว่าเป็นราชาแห่งการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี แถมยังมีใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำซึ่งเป็นส่วนของพืชผักที่ร่างกายย่อยไม่ได้ และเส้นใยที่ละลายน้ำนั้นจะช่วยในระบบขับถ่าย ระบบดูดซึมอาหาร แถมยังลดความเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และลดน้ำตาลและไขมันในเลือดอีกด้วย


ตำรับยารักษาโรคกระเพาะ

ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวหั่นตากแดด บดให้ละเอียด ทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำแล้วทาน เวลาละลายน้ำจะได้น้ำยาเหนียวๆ ถ้ามีนมหรือน้ำผลไม้หรืออาหารอ่อนๆละลายแทนน้ำ ก็จะทำให้รสชาติดีขึ้น ทานวันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร


ใยอาหารที่ละลายน้ำนั้นจะช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลและน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายและช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้คล่องขึ้น  จึงเป็นการช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับกับน้ำดีอยู่ ถือเป็นการลดไขมันและคลอเลสเตอรอลได้ คล้ายกับการกินยาลดคลอเลสเตอรอลและไขมันชื่อ “สแตติน” และเมื่อใยอาหารที่ละลายน้ำได้นั้น ไหลลงสู่ลำไส้ใหญ่จะช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (พรีไบโอติกแบคทีเรีย) ซึ่งช่วยลดสารพิษที่ผลิตโดยแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย นอกจากนี้ กระเจี๊ยบเขียวยังมีสารกลูตาไทโอน ซึ่งสารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดขึ้นในร่างกาย และกลูตาไทโอนยังสามารถกดการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีได้ชั่วคราว จึงเป็นที่นิยมที่ใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น

สรรพคุณเด่นที่สำคัญของกระเจี๊ยบเขียวคือ ในกระเจี๊ยบเขียวมีสารประกอบไกลโคซิลเลท ที่มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเหตุสำคัญของการเกิดบาดแผลในกระเพาะ

กระเจี๊ยบเขียวประกอบด้วยเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำและละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติที่ช่วยในการดูดซับสารพิษแล้วขับออกไปกับอุจจาระ จึงไม่เหลือสารพิษตกค้างในลำไส้ หากทานอย่างเป็นประจำจะช่วยให้ขับถ่ายคล่อง สบายท้อง และสมองผ่องใส เพราะมีงานวิจัยมาแล้วว่า หากผนังลำไส้สะอาด จะทำให้สมองผ่องใส

ยางของผลสดกระเจ๊ยบเขียวจะช่วยรักษาแผลสด โดยใช้ยางจากฝักของกระเจี๊ยบเขียวทาแผล แผลจะหายเร็วและไม่เป็นแผลเป็น ส่วนผลอ่อนกระเจี๊ยบเขียวนั้นมีเมือกที่ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ชาวบ้านบางพื้นที่นำผลอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวมาพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อน

กระเจี๊ยบเขียวนั้นทานได้ทั้งฝักอ่อน ยอด และราก ในต่างประเทศมีการทานใบกระเจี๊ยบสดเป็นผักสลัด ส่วนที่นิยมรับประทานคือ ผลอ่น ทั้งในรูปแบบของผักสด ต้ม นึ่ง ทอด ย่าง แกง ผัด ดอง หรือหั่นเป็นแว่นแล้วตากแห้งเก็บ หรือบดเป็นแป้งก็ได้ เมล็ดของกระเจี๊ยบเขียวนั้นให้กลิ่นหอมเมื่อได้รับความร้อนหรือถูกขยี้ เมล็ดที่คั่วแล้วบดใช้แทนกาแฟได้ แป้งจากเมล็ดแก่บดนั้น ใช้ทำขนมปังหรือเต้าหู้ได้ คนไทยส่วนใหญ่จะลวกฝักอ่อนจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้ม แต่ไม่ควรให้ความร้อนนานเกิน เพราะจะทำลายสารกลูตาไทโอน


ตำรับอาหาร

กาแจมียอ เป็นอาหารที่นิยมของชุมชนชาวมุสลิม ซึ่งปัจจุบันเมนูนี้กำลังจะถูกลืม

ส่วนผสม

หอมแดง กระเทียม ข่าอ่อน พริกสด ส้มแขก และเกลือ

ขั้นตอนการทำ

          นำหอมแดง กระเทียม ข่าอ่อนมาหั่นบาง ตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่เครื่องดังกล่าว ใส่เกลือเล็กน้อย และส้มแขก เพื่อให้ได้รสชาติที่มีรสเปรี้ยวนำ แล้วนำกระเจี๊ยบที่ล้างแล้วมาหั่นบางประมาณ 1 นิ้ว (นำมีดมาหั่นบนหม้อที่ร้อนๆ) ใส่ลงหม้อ แล้วตั้งให้เปื่อยเล็กน้อยก่อนยกลง เคล็ดลับการหั่นบนหม้อที่ตั้งไฟแล้วเพื่อไม่ให้เป็นเมือก แล้วจึงโรยพริกสด  ส่วนการต้มกระเจี๊ยบ ก็เหมือนการต้มผักทั่วๆไป โดยส่วนใหญ่ชุมชนมุสลิมจะนิยมนำมาต้มเป็นผักจิ้มน้ำบูดู


 

(1476)