นักวิทยาศาสตร์ใช้ระบบ AI เผยเนื้อหาในม้วนกระดาษโบราณที่ไม่สามารถเปิดได้

จากเหตุการณ์ภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิด ทำลายเมือง Pompeii และ Herculaneum ให้จมอยู่ใต้ธารลาวา เมื่อปีค.ศ. 79 ทำให้สมบัติทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า รวมถึงห้องสมุดขนาดใหญ่เสียหายจากความร้อนของเถ้าถ่านและแก๊ส

ในวันนี้การศึกษาเรื่องราวของเมืองทั้งสองเริ่มมีความหวัง เมื่อนักวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคโนโลยีการสแกนด้วยรังสีเอ็กซ์เข้มข้น และระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถอ่านม้วนกระดาษที่เสียหายจากยุคโบราณได้

ศาสตราจารย์ Brent Seales จากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย Kentucky หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ถึงแม้คุณจะเห็นว่าปาปิรุสทุกแผ่นมีตัวอักษรเขียนเอาไว้ แต่การจะเปิดมันออกมาได้กระดาษต้องอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นมากพอ แต่ม้วนกระดาษเหล่านี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น 

มีม้วนกระดาษสองม้วนที่เรายังไม่สามารถเปิดได้จาก Institut de France ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันหลักฐานจำนวน 1,800 ม้วนที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1752 ระหว่างการขุดค้น Herculaneum ในบริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นบ้านพักของพ่อภรรยาของจูเลียส ซีซาร์ ผู้นำเผด็จการในยุคโรมัน โดยส่วนใหญ่ของคอลเลกชันถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองเนเปิลส์ อิตาลี

ผู้เชี่ยวชาญพยายามใช้วิธีการนับไม่ถ้วนเป็นเวลากว่า 1 ปี เพื่อที่จะเปิดม้วนกระดาษออกมา แต่ก็เปิดได้เพียงประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งทำให้ม้วนกระดาษถูกทำลายไป รวมถึงอากาศก็มีผลทำให้หมึกจางลงอย่างรวดเร็ว

Seales และทีมงานของเขามีประสบการณ์การใช้รังสีเอ็กซ์ความเข้มข้นสูงเพื่อเปิดเผยเนื้อหาภายในหนังสือภาษาฮิบรูอายุ 1,700 ปีที่พบในหีบศักดิ์สิทธิ์ของโบสถ์ใน En-Gedi ประเทศอิสราเอล ซึ่งมีข้อความจากหนังสือพระคัมภีร์ Leviticus

แต่อีกหนึ่งความยากคือ หมึกของม้วนหนังสือ En-Gedi เกิดจากส่วนผสมพื้นฐานของโลหะ ซึ่งจะแสดงให้เห็นเมื่อโดนรังสีเอ็กซ์ ในขณะที่หมึกของม้วนกระดาษ Herculaneum นั้นประกอบด้วยคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผสมด้วยถ่านและขี้เถ้า ซึ่งหมายความว่าความแตกต่างระหว่างสีของหมึกกับสีของกระดาษนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันเลยเมื่อสแกนด้วยรังสี

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีการเอ็กซ์เรย์มาใช้ร่วมกับระบบเอไอที่เรียกกันว่า “Machine learning” โดยการใช้ตัวอย่างของชิ้นส่วนม้วนกระดาษที่มีตัวอักษรพอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในการอ้างอิง เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้รูปแบบตัวอักษรที่ปรากฎ

แนวคิดคือระบบจะเรียนรู้ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างพื้นที่หมึกและพื้นที่ว่างเปล่าบนกระดาษ เช่น ความแตกต่างในโครงสร้างของเส้นใยต้นกก ในตอนนี้พวกเขากำลังเก็บรวบรวมข้อมูล และอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบเอไอ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำไปทดลองใช้ได้จริงในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะประสบความสำเร็จและสามารถเปิดเผยเนื้อหาของม้วนกระดาษอีกหลายร้อยม้วนที่เหลือต่อไปได้

สำหรับความพยายามในการเปิดม้วนหนังสือก่อนหน้านี้ทำให้พวกเขาพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในม้วนกระดาษกล่าวถึงปรัชญากรีกที่เชื่อมโยงกับปรัชญาบางส่วนในยุคปัจจุบัน และยังมีความเป็นไปได้สูงว่าภาษาที่พบอาจมีส่วนผสมของภาษาละติน รวมถึงอาจมีการค้นพบบทประพันธ์ของกวีคนสำคัญในยุคนั้น ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านภาษาและวัฒนธรรมยุคโบราณเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ที่มา The Guardian

(45673)