ลิงลม หรือ นางอาย (Slow lorises) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nycticebus โดยปกติจะเคลื่อนไหวได้เชื่องช้ามาก แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน เมื่อหาอาหาร และเวลาที่โดนลมพัด และเมื่อตกใจจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาษาไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย จนถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้มันยังถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวในโลก ที่มีพิษลักษณะคล้ายน้ำมันที่ซ่อนอยู่ในต่อมที่ยาวไปตามข้อพับของแขนด้านใน มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ โดยมันจะเลียต่อมพิษของตนเองเพื่อให้สารพิษผสมกับน้ำลายก่อนกัด ซึ่งจะทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายช้าและกลายเป็นหลุมเนื้อตายในภายหลัง และหากลิงลมกัดคน พิษของมันอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการมีพิษนี้ แต่พิษนี้ใช้ประโยชน์ได้ในการล่าเหยื่อ หรืออาจจะใช้ประโยชน์ในการกำจัดปรสิตตามตัว เพราะลิงลมจะไม่มีเห็บหรือหมัดตามตัวเหมือนสัตว์ในอันดับไพรเมตจำพวกอื่น เคยมีข้อสันนิษฐานว่าลิงลมอาจจะได้พิษนี้มาจากอาหารโปรดของพวกมัน ได้แก่ แมลงหรือแมงมีพิษจำพวกต่าง ๆ เช่น มด และกิ้งกือ ซึ่งมีพิษลักษณะเดียวกันนี้
ล่าสุดนักวิจัยได้ถอดรหัสพันธุกรรมของโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในสารพิษของลิงลมแล้วพบว่าเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่มีอยู่ในน้ำลายของแมว ทำให้เมื่อถูกลิงลมกัด ผู้ป่วยจะมีอาการโดยส่วนใหญ่เหมือนกับการแพ้โปรตีนในน้ำลายแมว ที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง และหายใจลำบาก แม้จะมีความรุนแรงแตกต่างกัน แต่ก็ทำให้แพทย์สามารถหาแนวทางการรักษาได้ดีขึ้น
ด้วยความน่ารักพวกมันจึงมักถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงบ่อย ๆ ส่งผลให้ลิงลมตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ผู้ค้าสัตว์ป่ายังนิยมตัดเขี้ยวหรือฟันหน้าออกทั้งซี่บนและล่าง โดยที่เหลือรากฟันอยู่ ก่อนจะนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันอันตราย ทำให้ลิงลมบางตัวอาจจะติดเชื้อจากขั้นตอนนี้ทำให้ตายได้อีกด้วย
(9114)