13 พันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับที่เป็นพืชสมุนไพร

พิกุล แก้ว จำปา พันธุ์ไม้ประดับที่หลายคนมักปลูกประดับภายในรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเพื่อส่งเสริมบารมี โชคลาภหรือประดับเพิ่มความสวยงาม และส่งกลิ่นหอมก็ตาม พันธุ์ไม้เหล่านี้นอกจากจะมีความสวยงาม ส่งกลิ่นหอม และเป็นมงคลแล้ว ยังกลายเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย และนี่คือ 13 พันธุ์ไม้ประดับที่เป็นพืชสมุนไพร

  1. ว่านรางจืด

ว่านรางจืดเป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Lindl. (Blue Trumpet wine) ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ แต่ละช่อมี 3 – 4 ดอก ใบประดับสีเขียวประแดง กลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน เมื่อดอกร่วงจะติดฝักทรงปลายแหลมคล้ายปากนก
ว่านรางจืดสามารถนำใบไปตากแห้งชงเป็นชาดื่ม มีสรรพคุณกำจัดพิษ แก้เมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ และลดความร้อนในร่างกาย เหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทย หรือนำใบมาโขลกให้ละเอียดผสมน้ำซาวข้าว กรองเอาเฉพาะน้ำให้ผู้ที่กินยาฆ่าแมลงดื่ม เพื่อถอนพิษก่อนนำส่งโรงพยาบาล

  1. สร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิลหรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Thunbergia grandiflora อยู่ในวงศ์ Acanthaceae เช่นเดียวกับว่านรางจืด ทั้งยังมีรูปร่างลักษณะคล้ายกัน ทำให้หลาย ๆ คนสับสน ความแตกต่างระหว่างสร้อยอินทนิลและว่านรางจืด คือ ใบของสร้อยอินทนิลเป็นใบเดี่ยวปลายใบหยักเว้าเป็นแฉกคล้ายใบตำลึง แต่ในขณะที่ใบของว่านรางจืดเป็นใบเดี่ยวรูปหอก เรียว ปลายแหลมมีสีเขียวประแดง และช่อดอกของสร้อยอินทนิลจะยาวกว่าว่านรางจืด สร้อยอินทนิลออกดอกเดือนมีนาคมถึงตุลาคม เปลือกและรากมีสรรพคุณแก้อาการฟกช้ำ บวม และอักเสบได้ โดยนำมาตำและนำไปพอกบริเวณที่เกิดอาการ

  1. ลั่นทม

ลั่นทมหรือลีลาวดีเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ลั่นทมมี 2 ประเภท ลั่นทมแดงและลั่นทมขาว ดอกลั่นทมมีกลิ่นหอมสามารถรับประทานได้ ไม่มีพิษ ชงเป็นชาดื่มแก้ร้อนใน แก้บิด และแก้ไข้มาลาเรียโดยการใช้ดอกหรือดอกตูมกินกับใบพลู ใบและต้นของลั่นทม มีสารต้านเนื้องอก ใช้ลดการฟกช้ำ และรักษาแผลเรื้อรัง แก่น ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้กระหายน้ำ เปลือกราก เป็นยาถ่ายอย่างแรง เปลือกของต้นลั่นทม มีสารซึ่งสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีได้(สายพันธุ์ที่เคยถูกทดลองมาแล้วคือ ลั่นทมแดง) ยางของลั่นทมขาวใช้ทาแก้โรคงูสวัด หิด และลดอาการปวดข้อได้

  1. หงอนไก่

หงอนไก่ดอกไม้ที่เรานิยมปลูกประดับสวนเป็นไม้ดอกล้มลุก ช่อดอกมีขนาดใหญ่ มีดอก 1-3 ดอก หลายสี เช่น สีขาว ชมพู แดง และม่วง ช่อของดอกหงอนไก่มีรสจืดใช้บำรุงตับ แก้ไอ ไอกรน ระงับหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ปวดศรีษะ และแก้แผลผื่นคัน ใบของต้นหงอนไก่สามารถขับพยาธิ ต้นและรากเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาหนองในและระดูขาว

  1. อัญชัน

อัญชันคือพืชที่หลาย ๆ คนรู้จักจากการเอาดอกไปคั้นเป็นสีผสมอาหาร แต่รู้หรือไม่ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งได้ สารชนิดนี้ก็ยังมีส่วนสำคัญในการบำรุงเส้นผมให้เงางาม อย่างที่เราเคยเห็นว่ามักจะมีการนำดอกอัญชันมาหมักผม หรือนำไปทาบริเวณคิ้วเด็กให้คิ้วดกดำขึ้น สารแอนโทไซยานิน ยังช่วยบำรุงสายตา กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด และช่วยบรรเทาภาวะเสื่อมสภาพของดวงตา

  1. แก้ว

แก้ว ไม้ดอกกลิ่นหอมนี้เป็นไม้ยืนต้นสามารถพบได้ทั่วไปในเขตเส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย ทั้งยังเป็นต้นไม้พื้นเมืองของชาวบราซิล ดอกแก้วใช้แก้อาการไอเรื้อรัง แก้ไข้ กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน ช่วยเจริญอาหาร และแก้ไขข้ออักเสบ ใบแก้วสามารถปรุงเป็นยาขับระดู บำรุงธาตุ ขับลม แก้อาการปวดฟัน และมีสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ผลสุกสามารถรับประทานได้ รากมีรสเผ็ด แก้ปวดเอว และแก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น

  1. ชงโค

ชงโคคือไม้ยืนต้นขนาดกลาง เหมาะปลูกในสวนที่มีพื้นที่กว้าง เช่น ปลูกริมถนน ทางเดิน ดอกชงโค รักษาอาการไข้ ดับพิษไข้ เป็นยาระบาย และใช้ผสมร่วมกับยาอื่นๆ ใบ รักษาอาการไอ ใช้ฟอกฝี พอกแผล เปลือกต้น แก้บิด แก้ท้องร่วง ราก ต้มกินขับลม เป็นยาระบาย

  1. ดอกจำปา

มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ดอกเป็นกลีบยาว ลักษณะคล้ายดอกจำปีแต่มีสีเหลืองจัดออกไปทางสีส้มหรือสีแดง มีกลิ่นหอม ดอกมีรสขม เปลือกและราก ใช้รักษาโรคเรื้อน หิด ฝีที่มีหนอง ดอกและเมล็ดใช้ทำยาแก้ไข้ แก้โรคธาตุเสีย คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียนศีรษะ น้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปา สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง และคลายความเครียดได้

  1. จำปี

จำปีมีดอกสีขาวนวล ลักษณะคล้ายดอกจำปา กลิ่นหอมในเวลาเย็นและหอมแรงขึ้นในเวลากลางคืน มีสรรพคุณทางยาใช้แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต และใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ใบจำปีใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้และสามารถระงับอาการไอ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ต่อมลูกหมากอักเสบ และขับระดูขาว โดยใช้ใบที่ตากแห้งหรือนำไปผิงไฟให้แห้ง ใช้ 10-15 กรัม ต้มกับน้ำรับประทานแก้ไอ และแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง อย่างไรก็ตามตัวยาออกฤทธิ์เพียงชั่วคราวเท่านั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

  1. ดอกพิกุล

ดอกไม้ชื่อเพราะกลิ่นหอมนี้ เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกประดับบ้านเพื่อเสริมสิริมงคล มีสรรพคุณเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ น้ำมันหอมระเหยจากดอกพิกุล ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย เปลือกต้นพิกุลสามารถนำมาต้มอมบ้วนปากแก้โรคเหงือกอักเสบ เนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใช้บำรุงตับ ปอด หัวใจ และบำรุงครรภ์

  1. ดอกคัดเค้า

คัดเค้าหรือเค็ดเค้า(ภาคเหนือ) หนามลิดเค้า หรือจีเก๊าในเชียงใหม่ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Randial siamensis Craib จัดอยู่ในวงศ์ RUBIACEAE คัดเค้าเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยเนื้อแข็งและเหนียว คล้ายพวกเฟื่องฟ้า มีหนามตามกิ่งก้าน ใบเรียวยาวคล้ายใบมะม่วง คัดเค้าออกดอกขนาดเล็กคล้ายดอกมะนาวสีขาวมีกลิ่นหอม ส่งกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ดอกมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรใช้รักษา และบำรุงโลหิต แก่นนำมาฝนกับน้ำรับประทานแก้ไข้ รากคัดเค้ามีรสเย็นและฝาด ใช้ขับเลือด รักษาไข้ รักษาเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปรับประทานเป็นอาหารได้ โดยการนำดอกสดไปชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้ม

  1. ดอกเฟื่องฟ้า

ดอกเฟื่องฟ้ามีหลากหลายสีสันและสวยงาม นิยมปลูกประดับบ้าน และมีการตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ  แต่ทว่าดอกเฟื่องฟ้านั้นมีสรรพคุณโดดเด่นในการช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็งได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเฟื่องฟ้าที่มีสีม่วง แดง และชมพู เนื่องจากทั้งสามชนิดนี้มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สูง นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาพบแล้วว่า ช่วยป้องกันการติดเชื้อ รักษาอาการท้องเสีย ช่วยในการคุมกำเนิด รักษาอาการไอและเจ็บคอ บำรุงเลือดและขับระดูขาวในผู้หญิง อีกทั้งช่วยลดความดันโลหิต และบำรุงหัวใจ

  1. บานไม่รู้โรย

บานไม่รู้โรย ดอกไม้ที่เรามักจะเห็นในพวงมาลัยและกระทงเป็นไม้ดอกล้มลุก ออกดอก 1-3 ดอกต่อก้าน ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว ชมพู แดง และม่วง เจริญเติบโตได้เร็ว แท้จริงแล้วต้นไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณทางยา ดอกมีรสจืด ใช้บำรุงตับ แก้ตาเจ็บ แก้ไอ ระงับหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ แก้แผลผื่นคัน ใบนำมาขับพยาธิ ต้นและรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาหนองใน

 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจากเว็บไซต์

(34911)