นักดาราศาสตร์พบปรากฏการณ์หายาก Cocoon Galaxy กาแล็กซีขนาดเล็กมี 2 นิวเคลียส

จากการสำรวจกาแล็กซีใกล้กับทางช้างเผือก นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบว่าดาราจักรชนิดก้นหอยที่รู้จักกันในซีกโลกเหนือนามว่า NGC 4490 หรือ Cocoon Galaxy มี 2 นิวเคลียส ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากมาก

กาแล็กซีนี้มีขนาดเล็กเพียง 1 ใน 5 ของทางช้างเผือกเท่านั้น แต่มันกลับมีนิวเคลียสถึง 2 อันด้วยกัน ความน่าสนใจคือการมีสองนิวเคลียสไม่ใช่โครงสร้างธรรมดาที่พบได้ในดาราจักรก้นหอยที่มีการแผ่รังสีต่ำ

Allen Lawrence นักดาราศาสตร์ที่เริ่มทำการวิจัยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เป็นผู้ค้นพบเรื่องนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายมายังมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา ตั้งแต่นั้นมาก็ยังไม่มีใครคนอื่นค้นพบหรือศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัน

การมองนิวเคลียสทั้งสองพร้อมๆ กันนั้นทำได้ยาก เนื่องจากนิวเคลียสหนึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานในย่านความถี่ที่ตามองเห็นได้ ขณะที่อีกนิวเคลียสหนึ่งถูกบดบังด้วยฝุ่น ทำให้ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุและกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรด

ในปี 2013 ขณะที่เขาศึกษาดาราศาสตร์ในวิสคอนซิน เขาเลือกศึกษาดาราจักร NGC 4490 ที่อยู่ห่างจากโลกของเรา 25 ล้านปีแสง ซึ่งนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ พบเพียงนิวเคลียสเดียวเนื่องจากใช้กล้องโทรทรรศน์แสง และบางคนค้นพบอีกนิวเคลียสจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ แต่ไม่มีใครเคยนำผลการศึกษามาเปรียบเทียบกันจนรู้ว่ามันเป็นคนละอันกัน

เหตุที่ไม่มีใครเอะใจ เป็นเพราะมันมีขนาด มวล และความสว่างใกล้เคียงกัน Lawrence และทีมของเขาคาดว่า Cocoon Galaxy กำลังอยู่ในช่วงปลายของการชนกันของสองกาแล็กซี และในตอนนี้ดาราจักร NGC 4490 กับ NGC 4485 กาแล็กซีใกล้เคียงที่มีขนาดเล็กกว่าก็กำลังจะรวมตัวกันด้วย

ในปี 2004 รายชื่อของดาราจักรที่มีสองนิวเคลียสถูกระบุไว้เพียง 107 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ Markarian 315 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับดาราจักรโคคูน เนื่องจากมันมีสองนิวเคลียสที่ห่างกัน 6,000 ปีแสงและอาจขับเคลื่อนด้วยหลุมดำขนาดใหญ่

Charles Kerton นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในทีมกล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจกับสิ่งนี้ เพราะมันเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับก๊าซที่ถูกดูดสู่ใจกลางดาราจักรเพื่อเติมให้กับหลุมดำ

ที่มา Science alert

(916)