สุสานเก็บขยะนิวเคลียร์ในแปซิฟิคเสี่ยงแตก หลังเจอพิษน้ำทะเลที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บนหมู่เกาะ Marshall เป็นที่ตั้งของ Runit Dome หรืออีกชื่อหนึ่งที่คนรู้จักกันคือ ‘The Tomb’ ซึ่งเป็นสถานที่กักเก็บขยะกัมมันตภาพรังสีที่มีปริมาณมากถึง 87,800 ลูกบาศก์เมตร จากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า แคคตัส ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ในปีค.ศ. 1977 – 1980 ทหารสหรัฐฯ ประมาณ 4,000 นายได้รับมอบหมายให้ทำความสะอาดพื้นที่ทดสอบนิวเคลียร์ในพื้นที่ของ Enewetak Atoll ในมหาสมุทรแปซิฟิค ไม่ว่าจะเป็นดินที่ปนเปื้อนพร้อมกับของเสียจากกัมมันตภาพรังสีอื่น ๆ เช่นอุปกรณ์ทางทหาร คอนกรีต และเศษโลหะ โดยการปิดทับหลุมด้วยคอนกรีต

หลุมขนาดมหึมานี้มีขนาดใหญ่จนจุน้ำในสระโอลิมปิคได้ถึง 35 สระ โดยสารที่อยู่ในดินส่วนใหญ่ประกอบด้วยพลูโตเนียมที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดหากสูดดมเข้าไป แต่ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นกำลังทำให้สถานที่แห่งนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะแตกและรั่วไหล เนื่องจากปี 1993 เป็นต้นมาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 7 มิลลิเมตรต่อปีและเริ่มซึมลงไปในดินใต้โดม ซึ่งไม่ได้มีคอนกรีตรองรับเหมือนกับด้านบน

ก่อนที่จะทำการทดสอบนิวเคลียร์ในช่วงปี 1940s และ 1950s ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะ Enewetak ถูกสั่งให้อพยพจากบ้านและย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะใกล้เคียง ปัจจุบันมีเพียง 3 ใน 40 เกาะเท่านั้นที่มีความปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ และมีผู้พักอาศัยอยู่ประมาณ 650 คน

ในปี 2013 กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ รายงานว่าอาจมีกัมมันตรังสีบางส่วนรั่วไหลออกมาปะปนในทะเลโดยรอบ แต่มีปริมาณไม่มากพอให้เกิดอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กัน แต่หากน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายในปี 2030 น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 16 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ผลคือจะทำให้เกิดพายุมากขึ้นและน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งจนท่วมโดมอย่างสมบูรณ์ในปี 2100

ชาวท้องถิ่นกังวลกันว่าหากเกิดความเสียหายกับโดมคอนกรีต พวกเขาจะต้องเสี่ยงกับอันตรายด้านสุขภาพ ซึ่งล่าสุดโดมก็เริ่มร้าวและแตกหัก เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่คลื่นลมแรงจะทำให้โครงสร้างเปิดขึ้นได้ และทำให้กากกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในมหาสมุทรหรือทะเลสาบที่อยู่ใกล้เคียงมากขึ้น จนทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะต้องอพยพออกจากเกาะอีกครั้ง

Ken Buesseler นักรังสีวิทยาทางทะเลผู้วางแผนที่จะศึกษาดินโดยรอบโดมกล่าวว่าชาวบ้านอาจวิตกกังวลมากเกินไป เนื่องจากทุกวันนี้มีธาตุซีเซียมและพลูโตเนียมอยู่ในทุกๆ สิ่งที่เรากินและดื่มเข้าไปอยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขายังคงศึกษาเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน เพราะหากเกิดการรั่วไหลจริง คุณจะไม่สามารถรับรส ได้กลิ่น หรือสัมผัสได้ถึงรังสี มันจึงกลายเป็นภัยเงียบที่ร้ายกาจต่อมนุษย์ และไม่มีใครต้องการให้มันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา Science alert

(11172)