“สุริยุปราคาเต็มดวง” ที่หว้ากอ

รัชกาลที่ 4 ทรงฉายร่วมกับคณะชาวต่างชาติ หน้าพลับพลาที่ประทับค่ายหลวง ณ หว้ากอ

เมื่อกว่า 150 ปีก่อน ใครจะเชื่อว่าผู้นำของประเทศเล็กๆ ในดินแดนที่เรียกว่าสยาม จะมีความสามารถทำให้ชาวตะวันตกยอมรับด้านความรู้อันทันสมัยได้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศว่าในปีมะโรงจะมีสุริยุปราคาเต็มดวงในขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 18 สิงหาคม ปี พ.ศ.2411

โดยคำนวณว่าจะเห็นเต็มดวงที่หว้ากอ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และลงไปถึงชุมพร จึงโปรดให้สร้างค่ายหลวงและพลับพลาประทับแรมที่ตำบลหว้ากอ

ทรงอนุญาตคณะสำรวจและทูตต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์ โดยฝ่ายอังกฤษมีนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ รักษาการณ์กงสุลอังกฤษประจำสยาม และ เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ของอังกฤษ

ฝ่ายฝรั่งเศสมีนักวิทยาศาสตร์หลายสิบคนมาพร้อมกล้อง ๕๐ ตัว มีการสร้างที่ตั้งกล้องด้วยอิฐปูน ซึ่งภายหลังกลายเป็นร่องรอยสำคัญในการค้นหาตำแหน่งที่ตั้งค่ายหลวง จนเป็นสถานที่สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าในปัจจุบัน

ยังมีคณะธรรมชาติวิทยาจากสวนพฤกษศาสตร์เมืองไซ่ง่อน เดินทางมาเพื่อสังเกตว่าขณะมีสุริยุปราคาเต็มดวง พืชและสัตว์จะแสดงพฤติกรรมผิดไปจากปกติอย่างไร

จดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรื่องเสด็จหว้ากอบันทึกไว้ว่า เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที สุริยุปราคาเต็มดวง ฟ้ามืดเหมือนเวลาพลบค่ำ นั่งใกล้ๆ กัน จำหน้ากันไม่ได้

ครั้งนั้นเงามืดจับเต็มดวงนาน 6 นาที 45 วินาที และคลายทั้งดวงในเวลา 11 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที เกินที่ทรงคำนวณ 1 นาที
เหตุการณ์ตรงตามที่ทรงคำนวณด้วยวิธีโหราศาสตร์ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ชาวต่างชาติประหลาดใจไปตามกัน จนเป็นที่มาที่ประชาคมดาราศาสตร์สากลเรียกสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ว่า King of Siam’s eclipse

ทั้งนี้สุริยุปราคาเต็มดวงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดไม่บ่อยนัก นักดาราศาสตร์พบว่าโดยเฉลี่ยมนุษย์จะสามารถมองเห็นเงามืดของสุริยุปราคาทอดผ่านบ้านเขาอีกครั้งหนึ่งได้ต้องรอคอยนานถึง 375 ปี

 

รัชกาลที่ 4 ทรงฉายร่วมกับคณะชาวต่างชาติ หน้าพลับพลาที่ประทับค่ายหลวง ณ หว้ากอ
รัชกาลที่ 4 ทรงฉายร่วมกับคณะชาวต่างชาติ หน้าพลับพลาที่ประทับค่ายหลวง ณ หว้ากอ

(1350)