เหล่าช่างภาพใจเด็ดที่บันทึกเหตุการณ์ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ปะทุเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

ในยุคนี้การถ่ายภาพในสถานที่อันตรายไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เสี่ยงจริงก็สามารถใช้อุปกรณ์ไฮเทคบันทึกภาพแทนได้ แต่ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อนเทคโนโลยีรุ่งเรือง ช่างภาพเขาถ่ายรูปในสถานที่เสี่ยงภัยอันตรายอันดับต้น ๆ อย่างเช่นเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ อย่างไรกันนะ?

เมื่อครั้งที่ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ สหรัฐอเมริกา ปะทุขึ้นในเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 มีช่างภาพอิสระชื่อนาย Robert Landsberg ผู้มีประสบการณ์ด้านการปีนเขาและเดินป่าอย่างชำนาญ ตามจับภาพการเคลื่อนที่ของภูเขาไฟครุกรุ่นอยู่เป็นระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์

แต่ทว่าเช้าวันต่อมา Robert ขับรถมุ่งสู่บริเวณใกล้ปากปล่องภูเขาไฟ ทันใดนั้นบางส่วนของภูเขาเริ่มทลายลงมา เผยให้เห็นโพรงแมกมาความดันสูง จากนั้นภูเขาไฟได้ระเบิดรุนแรง ทำให้ขี้เถ้าและหินพัมมิซทะลักพุ่งออกมาระยะไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ป่าไม้และสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในระยะกว่าหลายร้อยตารางกิโลเมตรถูกทำลายจนสิ้น

ห่างออกไปอีก 11 ไมล์ ช่างกล้องที่ชื่อ Keith Ronnholm และ Gary Rosenquist ได้ยินเสียงสมาชิกในทีม คือ William Dilly ร้องบอกว่า “ภูเขาไฟมาแล้ว” หลังจากเขาสังเกตผ่านกล้องส่องทางไกล เมื่อ Rosenquist ได้ยินจึงหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปต่อเนื่องทีละช็อตอย่างรวดเร็วคล้ายกับการถ่ายวิดีโอในปัจจุบัน จึงได้ภาพการพังทลายและการปะทุของภูเขาเซนต์เฮเลนส์

สมาชิกในทีมของ Rosenquist เอาตัวรอดได้เนื่องจากระเบิดถูกหันเหกระจัดกระจายเพราะสันเขาที่ตั้งกั้นระหว่างพวกเขาและภูเขาไฟ แต่ Robert Landsberg ไม่โชคดีนัก เนื่องจากเขาอยู่ใกล้ระยะระเบิดเกินไป

Landsberg ถูกกลุ่มฝุ่นควันและหินร้อนต่าง ๆ หล่นใส่ปิดกั้นทางหนี เขาจึงตัดสินใจไม่หลบหนีและทำสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาทำได้คือถ่ายภาพการปะทุของภูเขาไฟให้ถึงที่สุด จากนั้น Landsberg ได้เก็บฟิล์มรูปและตัวกล้องใส่กระเป๋าสะพาย เขานอนทับกระเป๋าตัวเองเพื่อปกป้องรูปที่ถ่ายเอาไว้ ร่างของ Landsberg ถูกพบอยู่ใต้ขี้เถ้าเมื่อระยะเวลาผ่านไป 17 วัน

ฟิล์มกล้องได้รับความเสียหายบางส่วนจากความร้อนและมีอาการแสงรั่ว แต่กระนั้นก็ทำงานได้ปกติ รูปถ่ายของ Landsberg ถูกเผยแพร่ในเดือนมกราคม 1981 ภายใต้นิตยสาร National Geographic

ในวันนั้นมีช่างภาพเสียชีวิตทั้งสิ้น 2 คน อีกคนคือช่างภาพวารสารชื่อนาย Reid Blackburn เขาทำงานให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเช่นเดียวกับนิตยสาร National Geographic และกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา Blackburn ได้รับมอบหมายให้ประจำการอยู่ที่ภูเขาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม จนถึงวันก่อนที่ภูเขาไฟปะทุ แต่เขากลับตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่ออีก 2 – 3 วัน Blackburn ปักหลักใกล้กับ Coldwater Creek อยู่ห่างจากภูเขาไปทางเหนืออีก 8 ไมล์ และแทบทุกส่วนในบริเวณนี้ถูกทำลายจากเหตุแผ่นดินถล่มและการไหลของไพโรคลาสติก

ร่างของ Blackburn ถูกพบในวันต่อมา เขาอยู่ในรถที่ติดอยู่ในเถ้าภูเขาไฟที่ทับถมจนสูงถึงระดับหน้าต่างรถยนต์ กล้องของ Blackburn เสียหายหนักเกินไปที่จะกู้รูปภาพที่เขาถ่ายไว้ แต่ 10 ปีต่อมาภาพถ่ายภูเขาไฟปะทุของ Blackburn ได้รับการกู้คืนจากช่างภาพมืออาชีพของหนังสือพิมพ์ The Columbian ที่ Blackburn เคยทำงาน

น่านับถือในความกล้าหาญของช่างภาพสมัยก่อนที่กล้าเสี่ยงลงพื้นที่อันตรายและอุทิศตนเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ธรรมชาติที่สำคัญเหล่านี้เอาไว้

 

(4971)