รถถังจากแทร็กเตอร์

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความตื่นตระหนกในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกอย่างรวดเร็วทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นไม่นานการบุกรุกก็เริ่มคืบคลานเข้ามาทางตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยเริ่มจากการวางระเบิดในเมืองดาร์วิน
 
John Curtin นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียในขณะนั้นคาดการณ์ว่าสงครามอาจเข้ามาในส่วนสำคัญของประเทศในอีกไม่นาน แต่ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่พร้อมสำหรับการต่อสู้ เนื่องจากกองทหารออสเตรเลียกำลังสู้รบในตะวันออกกลาง และทหารออสเตรเลียประมาณ 15,000 นายถูกจับและกลายเป็นเชลยศึกระหว่างการสู้รบที่สิงคโปร์ John Curtin ขอร้องให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาส่งยานเกราะและรถถังมาให้ แต่ด้วยความที่อังกฤษเองก็ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้
 
Robert Semple รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการของนิวซีแลนด์ จึงประกาศว่าจะสร้างรถถังขึ้นมาเอง โดยการปรับปรุงรถ Caterpillar D8 แทร็กเตอร์ปรับหน้าดินที่มีใบมีดถอดประกอบได้ซึ่งกรมโยธาธิการมี 81 คันและอีก 19 คันที่พร้อมเสริมทัพ ช่วงล่างของ D8 ได้รับการแก้ไขและประกอบรางล้อให้ยาวขึ้น มีการปรับเปลี่ยนส่วนควบคุมของคนขับเล็กน้อย และกล่องเกียร์เดิมถูกแทนที่ด้วยกล่องอัตราส่วน 2:1 ที่ปรับปรุงใหม่
 
เนื่องจากไม่สามารถหาแผ่นเกราะได้ แผ่นแมงกานีสลูกฟูกจึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างโครงสร้างส่วนบนเหนือรถแทรกเตอร์ ส่วนอาวุธรถถังใช้ปืนกล BREN จำนวน 6 กระบอกแทนปืนขนาดใหญ่ โดยหันปลายกระบอกไปด้านหน้า 1 คู่ ด้านข้างข้างละ 1 กระบอก ด้านหลัง 1 กระบอก และติดตั้งกับป้อมปืนแบบตายตัวที่ด้านบนอีก 1 กระบอก
 
กำลังของรถถังมาจากเครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบของรถแทรกเตอร์ที่มีกำลัง 127 แรงม้า ซึ่งจำกัดความเร็วไว้ที่ 8 ไมล์ต่อชั่วโมง และระยะการทำงานอยู่ที่ 100 ไมล์ ความยาว 4.20 เมตร กว้าง 3.30 เมตร และสูง 3.65 เมตร ภายในบรรจุคนได้ 6-8 คน แต่ในเดือนมีนาคม 1941 หลังจากเปิดตัวรถถัง 2 คันแรกต่อสาธารณชนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ กลับได้รับกระแสล้อเลียนจากสื่อเรื่องเกราะลูกฟูกที่แปลกประหลาด
 
แท้จริงแล้วมันมีประโยชน์มาก เนื่องจากโครงสร้างหุ้มเกราะประกอบด้วยแผ่นเกราะหนา 8 มม. เชื่อมเต็มตัว ด้านบนเป็นการเพิ่มแผ่นเหล็กลูกฟูกผสมแมงกานีสหนา 12.7 มม. ซึ่งเพียงพอที่จะหยุดกระสุนปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังของศัตรูที่มีขนาดไม่เกิน 20 มม. และลูกฟูกก็ช่วยเบี่ยงเบนวิถีกระสุนได้
 
แต่ในด้านอื่นมันกลับทำได้ไม่ดีนัก การทดลองครั้งแรกแสดงให้เห็นว่ารถถังมีน้ำหนักมาก ทำให้เคลื่อนที่ได้ไม่ดีเมื่อเจอพื้นที่ขรุขระ ทำให้การยิงในขณะเคลื่อนที่ทำได้ยากมาก การสั่นสะเทือนที่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซลหกสูบก็ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงและมักทำให้ปืนของรถถังติดขัด นอกจากนี้ระบบส่งกำลังที่ผิดพลาดทำให้คนขับต้องหยุดรถก่อนจะเข้าเกียร์ รวมไปถึงข้อบกพร่องที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งคือการไม่มีช่องบนป้อมปืน ซึ่งในการรบจริง หากไม่มีช่องนี้จะทำให้ลูกเรือไม่สามารถหลบหนีจากยานพาหนะได้รวดเร็วพอ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้เนื่องจากการทิ้งระเบิดของศัตรู
 
เมื่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักจนถึงขั้นกล่าวว่า Bob Semple’s Tank เป็นรถถังที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้าน Semple จึงโต้กลับสื่อว่าอย่างน้อยเขาก็ยังคิดทำอะไรสักอย่าง ขณะที่บางคนได้แต่พูดเย้ยหยัน นายพล Puttick เสนาธิการทหารบกนิวซีแลนด์ ได้เสนอให้นำไปตั้งรับบริเวณชายหาด โชคดีที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามในแนวรบแปซิฟิก รถถังแทร็กเตอร์จึงถูกถอดเกราะกลับไปแต่งหน้าดินเหมือนเดิม (“เกือบไปแล้วสิเรา” – ทหารแทร็กเตอร์นึกในใจ)

(359)