ตำลึงเป็นยา หารับประทานง่าย

ตำลึงเป็นสมุนไพรที่มีรสเย็น แก้ร้อนใน ช่วยดับพิษร้อนที่เกิดจากความเครียดที่ต้องเผชิญ อีกทั้งยังมีสารช่วยย่อยแป้ง ทำให้ไม่อืดท้อง และยังช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องผูก มีคุณค่าทางอาหารสูงช่วยบำรุงสุขภาพ ที่สำคัญยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสรพและต้านการอักเสบ จึงมีประโยชน์ต่อการชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ และเหมาะกับผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร เพราะช่วยเรียกน้ำนมและมีสารอาหาร แคลเซียม วิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อทารก

ตำลึงเป็นผักที่มีวิตามินเอสูงเป็นอันดับสี่ในบรรดาผักจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีวิตามินเอถึง 18,608 ยูนิต ซึ่งมากกว่ามะรุมประมาณ 3 เท่า  ในสมัยก่อนชาวบ้านที่มีอาการตามัวจากการขาดวิตามินเอ จะเลือกรับประทานตำลึงเป็นประจำ แต่อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีไขมันร่วมด้วยเพราะจะช่วยในการดูดซึมวิตามินเอได้ดีขึ้น นอกจากจะมีวิตามินเอที่สูงแล้ว ยีงมีวิตามินบี 3 ที่ช่วยบำรุงผิวหนังทำให้ผิวสวยอีกด้วย

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการ ที่เปรียบเทียบการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายจากนมและผักต่างๆพบว่า การดูดซึมแคลเซียมจากตำลึงมีค่าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 47.6 ซึ่งรองจากการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายจากนมที่มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 55.2 คั้งนั้นผู้ที่ไม่นิยมดื่มนมหรือดื่มนมไม่ได้เพราะร่างกายไม่ย่อย ทำให้ท้องอืด ควรหันมาเลือกทานใบตำลึง แม้การดูดซึมจะไม่มากเท่านม แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงทีเดียว


ตำรับยาแก้เบาหวาน

ตำรับ 1

          นำรากตำลึง รากผักหวานป่า รากฟักข้าว รากกุ่มน้ำ รากกุ่มบก ต้มกินติดต่อกันไปเรื่อยๆ

ตำรับ 2

          นำข้อรากผักตำลังฝนกับน้ำดื่ม หรือใช้เถาผักตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว 2-3 นิ้ว จำนวน 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน 15-20 นาที นำมาดื่มเช้า-เย็น ติดต่อกันอย่างน้อย 7-10 วัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือดหรืออาจใช้ส่วนของต้น ใบ และรากต้มรวมกันแทนเถาอย่างเดียวก็ได้


ตำลึงเป็นสมุนไพรที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดตัวหนึ่ง จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด พบว่าตำลึงนั้นมีประสิทธิผลในการลดน้ำตาลได้ดีที่สุด  ถือเป็นสมุนไพรรักษาเบาหวาน ทั้งราก เถา และใบนั้น ใช้ได้ทั้งหมด มีการศึกษาพบว่าการรับประทานตำลึงวันละ 50 กรัมทุกวัน สามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้ และตำลึงยังได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรรักษาอาการผื่นแพ้ทางผิวหนังได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี

ตำลึงสามารถนำมาทำอาหารโดยนำยอดมาลวกหรือนึ่ง เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงจืด แกงเลียง ส่วนผลอ่อนสามารถนำมานึ่งกินดองกินกับน้ำพริกได้ ผลอ่อนที่ก้านดอกเริ่มจะหลุดสามารถรับประทานสดได้ กรอบอร่อย ไม่ขม เป็นยาบำรุงสุขภาพ รักษาปากเป็นแผลได้


ตำรับอาหาร แกงลูกตำลึงใส่หมูย่าง

ส่วนผสม

          ลูกตำลึง 3 ถ้วย, หมูย่างแบบไม่สุก 300 กรัม, หัวกะทิ 1 ถ้วย แบ่งครึ่ง, หางกะทิ 2 ถ้วย, กุ้งแห้งป่น ¾ ถ้วย, พริกแกงเผ็ด 3 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 1½ ช้อนโต๊ะ และใบมะกรูด 4 ใบ

วิธีทำ

1. ล้างลูกตำลึงให้สะอาด ตัดหัวท้าย ผ่ากลางลูกตามยาว แกะเม็ดออกให้เหลือรังเม็ดไว้ ระหว่างที่ทำให้แช่ลูกตำลึงไว้ในน้ำ 1 ลิตรผสมเกลือทะเล ¼ ถ้วย เมื่อแกะเม็ดเสร็จ แช่ต่ออีกครึ่งชั่วโมง และล้างด้วยน้ำสะอาด ใส่ตะกร้าพักให้สะเด็ดน้ำ

2.ผัดหัวกะทิครึ่งหนึ่งจนแตกมัน ใส่พริกแกงลงไปผัดจนหอม เติมกุ้งแห้งป่นและหมูย่างลงไป ผัดจนเข้ากันดี เติมหางกะทิ ผัดต่อจนเดือด เติมน้ำตาลและน้ำปลา ชิมรสที่ชอบ ใส่ลูกตำลึง เคล้าให้เข้ากัน เติมหัวกะทิที่เหลือ ใส่ใบมะกรูดและปิดไฟ


 

(755)