ต้นกุ่มมี 2 ชนิดคือ ต้นกุ่มบกและต้นกุ่มน้ำ ซึ่งคนไทยสมัยก่อนนิยมกินเป็นอาหารและใช้เป็นยารักษาโรค โดยนำใบอ่อนและดอกอ่อนที่ออกในช่วงฤดูฝนมาดอง ต้ม นึ่ง หมกก่อนแล้วจึงนำมารับประทาน กุ่มทั้งสองมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สรรพคุณที่กล่าวไว้ในตำรายาไทยคือ เปลือก ใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง คุมธาตุ ขับผายลม ขับน้ำดี ขับนิ่ว แก้บวม แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน บำรุงธาตุไฟ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาท และยาบำรุง แก่น ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว บำรุงเลือด ราก ใช้ขับหนอง บำรุงธาตุ ใบ ใช้ขับลม เจริญอาหาร ขับเหงื่อ ฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนัง และกลากเกลื้อน แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ และ ดอก เป็นยาเจริญอาหาร แก้เจ็บคอ แก้ไข้
ตำรับยาบำรุงระบบขับถ่ายปัสสาวะ
เปลือกทำเป็นผงแห้ง รับประทานวันละ 3-6 กรัม เป็นยาขับปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดมีแรงบีบ และบำรุงสุขภาพทั่วไป
ผักกุ่มเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน ช่วยในการไหลเวือนของเลือด บำรุงเลือดลมสตรี จึงเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยหลายตำรับ เช่น ตำรับยาแก้โลหิตเสีย ตำรับยาแก้อัมพาต ตำรับยาแก้โรคปัสสาวะสตรี เป็นต้น ผักกุ่มยังเป็นสมุนไพรที่หมออายุรเวทโบราณนิยมใช้เป็นยาภายนำเพื่อทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยในการรักษาสมดุลของระบบไหลเวียนของเลือด คนเนปาลเชื่อว่าใบของผักกุ่มมีสรรพคุณในการขับพยาธิและบำรุงร่างกาย ส่วนหมอยาไทยใช้เปลือกผักกุ่มทำเป็นผงกินกับน้ำผึ้งเป็นยาต้านความชรา แก้อาการเหน็บชา ทำให้สายตาแจ่มใส
ต้นกุ่มมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและยับยั้งการก่อตัวเป็นก้อนนิ่วชนิดนิ่วด่าง ในบรรดาหมอพื้นบ้านไทยอินเดีย และเนปาลต่างใช้ต้นกุ่มทั้งในส่วนของเปลือกและแก่นมาใช้รักษานิ่วในไต ผักกุ่มจัดว่าเป็นยาร้อน จึงช่วยบำรุงธาตุไฟที่ใช้ในการย่อยอาหาร ช่วยขับลม ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยในเรื่องการหลังน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร
ในการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ผักกุ่มมีฤทธิ์แก้อักเสบ แก้ข้อเข่าอักเสบ แก้ไข้ แต่หากกินใบและกิ่งสดนั้น จะมีฤทธิ์เป็นพิษเพราะมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ดังนั้นจึงต้อง ดอง นึ่ง หมกหรือต้มเพื่อทำลายสารดังกล่าว
ตำรับอาหารยำผักกุ่ม ตำรับไทยใหญ่
ส่วนผสม ผักกุ่มดอง 1 ถ้วย หอมหัวใหญ่ซอย ½ หัว มะเขือเทศหั่น 1 ผล ถั่วลิสงบด 3 ช้อนโต๊ะ กระเทียมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ งาขาว 1 ช้อนโต๊ะ พริกสด ผักชี เกลือ
วิธีทำ นำส่วนผสมทุกอย่างใส่รวมกัน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ
(650)