แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า และดินถล่ม เหล่านี้คือภัยพิบัติที่เราพบเห็นกันตามข่าวได้บ่อยครั้ง และในบางภัยพิบัติก็คร่าชีวิตคนไปเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น แต่ทว่าไม่มีภัยพิบัติครั้งไหนที่สามารถคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปได้มากกว่ากาฬโรค โรคระบาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดชนิดที่ไม่มีโรคใดเทียบติด คร่าชีวิตประชากรไปมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกกันเลยทีเดียว และภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากแผ่นดิน ผืนน้ำ หรือแม้แต่มนุษย์เลยสักนิด แต่ถูกแพร่มากจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างหนูหรือหมัด
กาฬโรค โรคห่า หรือที่ชาวโลกรู้จักกันในนาม “ความตายสีดำ” (black death) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เยอร์ซิเนีย เปสติส” (Yersinia pestis) โดยมีสัตว์ฟันแทะ และหมัดเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อได้ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือโดยอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อน ในอดีตโรคนี้เกิดการระบาดใหญ่ ๆ ทั้งหมด 3 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 ยุคกลางตอนต้น(สมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก), ช่วงที่ 2 คริสตวรรษที่ 14 -19 และช่วงที่ 3 ศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งสุดท้าย เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1855 มีการแพร่ระบาดไปทุกทวีปทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1894 Alexandre Emile Jean Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศสค้นพบสาเหตุก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรีย Baicllus pestis ซึ่งได้ตั้งชื่อเป็น Yersinia pestis เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบ
โดยในประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับกาฬโรคปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยาครั้งแรก ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีการกล่าวถึงโรคห่าในปี พ.ศ.1893 ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1350 ที่มีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคในยุโรป จึงสันนิฐานว่าโรค ‘ห่า’ ที่กล่าวถึงน่าจะเป็น “กาฬโรค” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ พบว่า มีการระบาดของกาฬโรคจากเมืองจีน ซึ่งปรากฏในเอกสารสำเนาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ร.ศ. 116 พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ.116 เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2440
จากนั้นจึงมีรายงานการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทยจาก นายแพทย์ เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาลได้รายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 ว่า พบการระบาดเกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้า ที่จังหวัดธนบุรี บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดียแล้วระบาดจากธนบุรีเข้ามาฝั่งพระนคร จากนั้นกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับจังหวัดพระนครทั้งทางบก ทางเรือ และทางรถไฟ แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย 300 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย และไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนปัจจุบันนี้
กาฬโรคจะแสดงอาการหลังถูกหมัดที่มีเชื้อกัดแล้วประมาณ 2-8 วัน โดยเชื้อกาฬโรคจะเคลื่อนไปเจริญเติบโตยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด โดยอาการเริ่มแรกคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการสามารถพบได้ 3 ลักษณะคือ
1.ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลักษณะต่อมน้ำเหลืองจะบวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจปวดมากจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ ตำแหน่งที่มักพบจะเป็นบริเวณขาหนีบหรือรักแร้
2.ชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการไข้สูง ความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ เสียชีวิตภายใน 3-5 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง
3.ชนิดกาฬโรคปอดบวมอาจเกิดตามหลังจาก 2 ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนไอ จามรดกัน มีอาการปอมบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตเร็วมากภายใน 1-3 วัน
กาฬโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไทยพบชนิดต่อมน้ำเหลืองบวมเพียงชนิดเดียว โดยมีหนูและหมัดหนูเป็นพาหนะสำคัญในการป้องกันจึงต้องกำจัดหนูโดยใช้กับดัก,วางยาเบื่อ และจัดการสุขาภิบาลให้ดี และในปัจจุบันมีผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ และมหาวิทยาลัยเฟอร์รารา ประเทศอิตาลี ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PNAS ระบุว่า พบหลักฐานที่ชี้ว่าแท้จริงแล้วหนูไม่ได้เป็นตัวแพร่เชื้อ แต่เป็นมนุษย์ด้วยกันต่างหากที่เป็นพาหะนำโรค จริงอยู่ที่ต้นกำเนิดโรคมาจากหนูและหมัด แต่เชื้อจะกระจายจากคนสู่คนได้รวดเร็วกว่าสัตว์สู่คน จึงเป็นสาเหตุให้ประชากรล้มตายจำนวนมาก
แม้ว่าในปัจจุบันเชื้อกาฬโรคจะไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ที่เชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเชื้อร้ายเหล้านี้มักจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและมีความสกปรกมาก รวมถึงมีแหล่งน้ำและสภาพที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียดังกล่าว
ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และBBC NEWS ไทย
(1855)