ในอนาคตมนุษย์อาจล่องหนได้เหมือนหมึก

ทีมนักวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประสบความสำเร็จในการทำให้เซลล์ไตของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในจานทดลอง สามารถควบคุมการส่องผ่านและการกระเจิงของแสงได้ ซึ่งจะทำให้สามารถเปลี่ยนสภาพของเซลล์จากทึบแสงไปเป็นโปร่งใส และเปลี่ยนกลับมาสู่สภาพทึบแสงได้อีกครั้ง

©whitelily

ความสามารถในการควบคุมแสงนี้ใช้เทคนิคในการทำให้เซลล์มนุษย์เกิดการแสดงออกของยีนที่เป็นตัวการผลิตโปรตีนรีเฟล็กติน (Reflectin) ออกมา โดยโปรตีนชนิดนี้เดิมมีอยู่ในเซลล์พิเศษของหมึกกล้วย ซึ่งช่วยให้พวกมันควบคุมการอำพรางตัวด้วยการเปลี่ยนสีหรือทำตัวโปร่งใสในธรรมชาติได้

©sciencedirect

 

เมื่อตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ พบว่าเซลล์ของมนุษย์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว สามารถผลิตโปรตีนรีเฟล็กตินที่มีคุณสมบัติและกลไกการทำงานเหมือนกับที่พบในหมึกกล้วยได้เป็นอย่างดี โดยทำให้แสงที่ส่องผ่านเซลล์เกิดการกระเจิงจนดูโปร่งใสขึ้น

กระบวนการดังกล่าวยังสามารถควบคุมให้เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาได้ โดยใช้ความเข้มข้นของเกลือเป็นปัจจัยกำหนด ยิ่งภายในเซลล์มีเกลือมากขึ้น โมเลกุลของโปรตีนรีเฟล็กตินก็จะขยายใหญ่ขึ้น เพิ่มการกระเจิงของแสงจนทำให้เซลล์ดูขุ่นและทึบแสงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากภายในเซลล์มีเกลือน้อยลง ก็จะยิ่งโปร่งแสงขึ้นจนดูใสเหมือนล่องหนไปในที่สุด

(354)