พิธีเลือกตั้งพระสันตะปาปา

ภายหลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และได้เปิดทางให้มีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ จึงได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 โดยมีขั้นตอนต่างๆ ในพิธีเลือกตั้งพระสันตะปาปา ดังนี้

1. การรวมตัวของคาร์ดินัล

ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการเลือกตั้งให้เป็นพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่นั้น จะต้องเป็นคาร์ดินัลจาก 51 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 100 คน ที่มีอายุไม่เกิน 80 ปี จะถูกเรียกมายังนครวาติกัน เพื่อร่วมพิธีมิสซาบูชา ที่จัตุรัสเซ็นต์ ปีเตอร์ และขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า

2. การคัดเลือกประมุขแห่งศาสนจักร

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีที่จัตุรัสเซ็นต์ ปีเตอร์ คณะคาร์ดินัลจะเดินทางไปยังโบสถ์ซิสติน เพื่อรับฟังการเทศน์ครั้งที่ 1 หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเลือกองค์ประมุขที่เหมาะสมที่สุด ที่สามารถรับมือและจัดการกับสถานการณ์ได้ จากนั้นจะเริ่มการเทศน์ครั้งที่ 2 ที่เข้มข้นและจริงจังมากยิ่งขึ้น

คณะคาร์ดินัล จะถูกตัดขาดจากการสื่อสาร ทำให้อิทธิพลจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถชี้นำการตัดสินใจได้ รวมถึงมีการตัดสัญญาณสื่อสารไร้สายในนครวาติกันอีกด้วย โดยเรียกขั้นตอนนี้เป็นภาษาละตินว่า “Conclaves” ซึ่งหมายถึง การประชุมลับ โดยการเลือกตั้งทุกครั้งจะจัดขึ้นภายในโบสถ์ซิสตินตั้งแต่ปีค.ศ. 1878 มาจนถึงปัจจุบัน

พอเสร็จสิ้นการเทศน์ครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่จะแจกกระดาษระบุข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอเลือกท่านผู้นี้…..เป็นประมุขของพระศาสนจักรองค์ต่อไป” จากนั้นตัวแทนคาร์ดินัลจะยืนขึ้น และเชื้อเชิญคณะคาร์ดินัลทุกองค์ให้ร่วมใจสาบาน พร้อมกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะเลือกบุคคลที่ข้าพเห็นว่าเหมาะสมที่สุด โดยไม่มีอิทธิพลใดมาแทรกแซง” เมื่อกล่าวคำปฏิญาณเสร็จ คณะคาร์ดินัลจะตอบรับหนักแน่นว่า “จะทำ” ก่อนที่ตัวแทนคาร์ดินัลองค์เดิมจะเดินไปหาคาร์ดินัลแต่ละองค์ที่เข้าร่วมพิธี และนำพระคัมภีร์ให้เหล่าคาร์ดินัลยื่นมือมาแตะ เพื่อแสดงสัจจะอีกครั้ง และกล่าวคำว่า “ข้าพสัญญา ข้าพเจ้าสาบาน” ทีละองค์จนครบ
การลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปา

คำกล่าวปฏิญาณ

“Et ego, (first name), Cardinalis (last name), spondeo, voveo, ac iuro. Sic me Deus adiuvet et haec Sancta Dei Evangelia, quae manu mea tango.

And I, (first name), Cardinal (last name), promise, vow and swear. Thus, may God help me and these Holy Gospels which I touch with my hand.”

คาร์ดินัลแต่ละองค์จะถูกขานชื่อ เพื่อออกมาหย่อนกระดาษในกล่องด้านหน้าห้อง ซึ่งก่อนหย่อนบัตรจะต้องกล่าวคำสาบานอีกครั้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจนับบัตร โดยบุคคลที่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นประมุของค์ใหม่ ต้องมีคะแนนเกิน 2 ใน 3 จึงจะถือว่าได้รับเลือกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่หากคะแนนยังกระจาย จะมีการเลือกใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงครั้งที่ 6 ซึ่งกฎเกณฑ์กำหนดให้เลือกได้ 3 วัน แต่หากถึงครั้งสุดท้ายแล้วเสียงยังแตก จะมีการคัดเลือกครั้งที่ 7 ซึ่งถือเป็นการดลใจจากเบื้องบน ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดไม่ว่าเท่าไหร่ก็ตาม จะถือว่าเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่

3. การสังเกตสัญญาณควัน

เหล่าคริสต์ศาสนิกชนที่อยู่ภายนอกจะติดตามผลการคัดเลือก ด้วยการสังเกตควันไฟจากปล่องของหอสวดซิสติน หากเป็น “ควันสีดำ” หมายถึงยังไม่ได้สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่หากควัน “สีขาว” ปรากฏขึ้น หมายความว่าประมุขแห่งศาสนจักรถูกเลือกแล้ว

เมื่อพิธีคัดเลือกเสร็จสมบูรณ์ องค์คาร์ดินัลอาวุโส จะตรงไปหาคาร์ดินัลที่ถูกเลือก และเปล่งวาจาว่า “ท่านได้รับเลือกเป็นประมุขแห่งศาสนจักร ผ่านพระประสงค์ของผู้เป็นเจ้า ท่านน้อมรับพระประสงค์นี้หรือไม่” ถ้าหากไม่รับ จะต้องเริ่มการคัดเลือกใหม่ตั้งแต่ต้น แต่หากยินดีช่วยเหลืองานด้านศาสนา ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มขึ้นทันที
การตั้งชื่อและเปิดตัวโป๊ป

องค์คาร์ดินัลที่ถูกรับเลือก จะเป็นผู้กำหนดชื่อของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยเลือกจากชื่อของสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีในประวัติศาสตร์ อาทิ เบเนดิกต์ ที่ 16 องค์ต่อไปจะต่อยอดเป็น เบเนดิกต์ ที่ 17 หรือ จอห์น ปอล ที่ 2 จะเป็น จอห์น ปอล ที่ 3 เป็นต้น

หลังจากนี้ จะถูกนำไปที่ “ห้องน้ำตา” เป็นธรรมเนียมสมัยโบราณ เนื่องจากสมัยก่อนภาระของโป๊ปค่อนข้างหนัก จึงอนุญาตให้ร้องไห้ เตรียมตัวเตรียมใจก่อนปฏิบัติกรณียกิจ ในห้องแห่งนี้จะมีที่นั่ง และชุดคลุมสีขาว 3 ชุด 3 ขนาดให้เลือกสวม โป๊ปองค์ใหม่จะต้องผลัดชุดจากสีแดงเป็นสีขาว ซึ่งมีโป๊ปองค์เดียวเท่านั้นที่ได้สวมชุดและหมวกสีขาว

 

เมื่อเปลี่ยนอาภรณ์เสร็จ จะมีผู้นำโป๊ปออกไปยังหน้ามุขของจัตุรัสเซ็นต์ ปีเตอร์ ซึ่งองค์คาร์ดินัลอาวุโสจะกล่าวแนะนำว่า “พี่น้อง เราดีใจ ตอนนี้เรามีสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว” จากนั้นโป๊ปจะทักทายและให้พรประชาชนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการประกาศโป๊ปพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ

สำหรับประเทศไทยมีคาร์ดินัล 1 พระองค์ คือคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู แต่ไม่สามารถเข้าร่วมลงคะแนนเลือกและไม่มีสิทธิ์เข้าประชุม เนื่องจากอายุเกิน 80 ปีแล้ว แต่สามารถเดินทางไปให้กำลังใจที่นครวาติกันได้ โดยองค์ที่จะเข้ารับการเลือกตั้งได้ควรจะมีอายุน้อยและมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อความสามารถในการปฏิบัติกรณียกิจและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้นั่นเอง

(1088)