มัมมี่ลิ้นทอง

มัมมี่ลิ้นทอง เมื่อช่วงต้นปี 2021 ทีมนักโบราณคดีของอียิปต์และมหาวิทยาลัย Santo Domingo ในสาธารณรัฐโดมินิกัน พบร่างมัมมี่ที่มีลิ้นทองคำภายในวิหาร Taposiris Magna ในเมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นสุสานที่ฝังร่างพระนางคลีโอพัตรา คาดว่ามัมมี่เหล่านี้น่าจะเคยมีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ Ptolemy ซึ่งวัฒนธรรมกรีก-โรมันมีอิทธิพลอย่างสูง หรือเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว

ล่าสุดทีมนักโบราณคดีจากกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุของอียิปต์ร่วมกับมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ได้ค้นพบมัมมี่ที่มีแผ่นทองคำรูปลิ้นอยู่ในปากเพิ่มเติมอีก 3 ร่าง จากหลุมศพ 2 แห่ง โดยหลุมหนึ่งเป็นของร่างผู้ชาย ส่วนอีกหลุมเป็นของผู้หญิงและเด็กอายุเพียง 3 ขวบ ภายในเมืองโบราณ Oxyrhynchus ห่างไปทางใต้ของกรุงไคโรประมาณ 160 กิโลเมตร

ร่างมัมมี่เพศชายน่าจะมีอายุตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 26 ประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว หรือที่รู้จักกันในนามยุค Saite ซึ่งยังมีข้อมูลไม่มากนัก นอกจากโลงศพหินปูนที่มีฝาปิดรูปคนแล้ว ยังพบโถทรงโดมสี่ใบที่ออกแบบมาเพื่อรองรับอวัยวะของผู้ตาย รูปสลักแมลงปีกแข็ง ลูกปัดสีเขียว และรูปปั้นดินเผาที่ใช้ในพิธีศพเรียกว่า ushabti อีกประมาณ 400 ชิ้น

ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวตนของมัมมี่เหล่านี้ได้ แต่นักโบราณคดีคาดว่าการใส่ลิ้นทองคำอาจเกิดจากความเชื่อว่าพวกเขาจะใช้ลิ้นนี้เพื่อสื่อสารกับเทพโอซิริส ซึ่งเป็นเทพแห่งยมโลก

(154)