โครงการ “นิทานจากอวกาศ” ของนาซา

การฟังนิทานไม่ได้สร้างเพียงความสนุกให้กับเด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างพัฒนาการด้านภาษาและจินตนาการอีกด้วย แต่ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะมีเวลาหรือมีความสามารถในการเล่านิทานให้สนุกได้ ปัญหานี้จะหมดไปเพราะนาซามีตัวช่วยพิเศษให้กับเหล่าผู้ปกครองที่ไม่ถนัดเล่านิทาน ด้วยโครงการที่มีชื่อว่า “Story Time from Space” จากกองทุน Global Space Education ที่เหล่านักบินอวกาศจะมาเล่านิทานและอ่านหนังสือเด็กให้ฟังจากบนอวกาศ

โครงการนี้คิดค้นโดย Patricia Tribe อดีตผู้อำนวยการด้านการศึกษาที่ศูนย์อวกาศฮูสตัน และนักบินอวกาศ Benjamin Alvin Drew Jr. ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ Tribe ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมและทักษะทางวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเสร็จสิ้นลง

งานในโครงการของพวกเขาก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแค่ส่งหนังสือขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติที่เหล่านักบินกำลังปฏิบัติภารกิจกันอยู่ แล้วนักบินเหล่านั้นก็จะอัดวิดีโอการอ่านหนังสือของพวกเขาส่งกลับมา และทางโครงการก็จะโพสต์ลงในยูทิวบ์และเว็บไซต์ของโครงการ

Tribe ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะทั้งสองสำหรับเด็ก ๆ จึงตัดสินใจสร้างบางสิ่งที่จะช่วยให้วิทยาศาสตร์และการอ่านรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และทำให้วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้มากขึ้น “จะมีวิธีการใดที่ดีไปกว่านี้ในการดึงดูดเด็ก ๆ เข้าสู่วิทยาศาสตร์และมีส่วนร่วมในการอ่าน? คุณไม่เพียงแค่ได้เห็นและฟังเนื้อหาจากหนังสือเท่านั้น แต่ยังสามารถมองเห็นบรรยากาศภายในสถานีอวกาศนานาชาติด้วย”

หนังสือเล่มแรกที่ได้รับการเผยแพร่ คือหนังสือ Max Goes to the Moon ที่อ่านโดย Drew Jr. ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเที่ยวบินสุดท้ายของจรวดดิสคัฟเวอรี

ตั้งแต่ที่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีเรื่องราวมากมายที่ถูกบอกเล่าจากอวกาศ และทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ของโครงการ หนังสือเหล่านี้คือสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ STEM (science, technology, engineering, and mathematics) ด้วยตัวนักบินอวกาศเอง ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ที่ถูกต้องและเป็นจริงที่สุด ไม่ใช่แค่ความรู้ในสาขาเหล่านี้เท่านั้นที่เด็กๆ จะได้รับ เพราะการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายๆ อย่างก็เกิดขึ้นในสถานีอวกาศด้วย

ที่มา Bored panda , Story time from space

(329)