มะรุม คุมความดัน

มะรุมสามารถกินเป็นผักได้แทบทุกส่วน ตั้งแต่ใบอ่อน ช่อดอก ฝักอ่อน โดยนำมาลวก นึ่ง กินกับน้ำพริกแจ่ว กินแนมกับลาบ ก้อย หรือจะนำช่อดอกทำแกงส้ม แกงอ่อม หรือจะนำช่อดอกมาดอง เพื่อนำมากินกับน้ำพริก ส่วนฝักอ่อนมีวิตามินซีสูงมาก นิยมทำแกงส้มกินตอนต้นฤดูหนาว เพื่อเป็นการป้องกันหวัด อีกทั้งยังช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ช่วยบำรุงสายตา ช่วยย่อยอาหาร และช่วยระบายท้อง

จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า ในส่วนของใบและรากของมะรุมมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ รวมทั้งพบสารที่สำคัญที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น niazinin A, niazinin B, niacimicin และ niaziminin A and B

มะรุมเป็นยาร้อน  จึงช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ช่วยบรรเทาอาการหวัด หอบหืด หมอยาไทยสมัยก่อนนิยมใช้ต้มเปลือกหรือรากมะรุมให้คนไข้ที่มีอาการข้ออักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ชาตามปลายมือปลายเท้า กิน รวมทั้งตำรวมกับสมุนไพรอื่นเพื่อเป็นยาประคบภายนอก ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

ข้อควรระวัง มะรุมเป็นยาร้อน ทุกส่วนของมะรุมสามารถทำให้แท้งได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเปลือกรากกับเปลือกต้น


ตำรับยาแก้ความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องกินต่อเนื่อง

ตำรับที่ 1 รากต้มกินเป็นซุป

ตำรับที่ 2 เอายอดมาต้มกิน

ตำรับที่ 3 เอารากมะรุมต้มกับรากย่านางกิน

ตำรับที่ 4 ใช้ยอดมะรุมสด จะเป็นยอดอ่อนหรือแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นเอาน้ำ ผสมน้ำผึ้งพอหวาน กินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ยานี้ช่วยลดความดัน เมื่อหยุดยา ความดันโลหิตก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก ต้องกินต่อเนื่อง



ตำรับแกงส้มมะรุม

ส่วนผสม

          มะรุม 10 ฝัก (ไม่แก่ ไม่อ่อนจนเกินไป), ปลาช่อน 1 ตัวหั่นเป็นชิ้นใหญ่, เครื่องแกง (พริกแห้ง 5 เม็ด หอมแดง 3 หัว กระเทียม 1 หัว กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ เนื้อปลาสุก 1 ช้อนโต๊ะ), น้ำมะขามเปียก 1 ถ้วย, น้ำตาล, น้ำปลา

วิธีทำ

          แกะเนื้อมะรุมออกจากฝัก โดยใช้ปลายช้อนขูดเป็นท่อนพอดีคำ ต้มน้ำครึ่งหม้อ ใส่เครื่องแกงลงไป ตั้งไฟให้เดือด ใส่มะรุม ใส่ปลาช่อน เติมน้ำมะขามเปียก ปรุงรสตามชอบ ยกลง

***สามารถใช้กุ้ง ปลาย่าง ไก่ย่าง แทนปลาช่อนได้


 

(207)