ทำไมฟิลิปปินส์จึงต้องระงับเที่ยวบินเมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุ

สถานการณ์ภูเขาไฟ Taal ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางทิศใต้ประมาณ 70 กิโลเมตร พ่นเถ้าถ่านจำนวนมาก และลาวาออกมาจากปล่องภูเขาไฟ ทำให้ทางการฟิลิปปินส์ต้องอพยพผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง และเที่ยวบินที่สนามบินนานาชาติกรุงมะนิลาถูกระงับเนื่องจากเถ้าภูเขาไฟ แล้วทราบหรือไม่ว่าทำไมจึงต้องระงับเที่ยวบิน?

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเถ้าถ่านเจอกับเครื่องบิน?

เมื่อเครื่องบินพบกับเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ ผลกระทบที่ใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ เนื่องจากส่วนประกอบโดยส่วนใหญ่ในเถ้าถ่านมักจะเป็นซิลิเกต เมื่อพบกับความร้อนสูงภายในเครื่องยนต์ชิ้นส่วนเหล่านั้นจะละลายลง แต่เมื่อเข้าไปถึงในส่วนที่มีความเย็นกว่า เศษเหล่านั้นจะแปรสภาพกลายเป็นของแข็งที่มีความคมคล้ายแก้ว ซึ่งจะขัดขวางการไหลเวียนของอากาศหรือสร้างความเสียหายภายในจนอาจนำไปสู่การหยุดทำงานของเครื่องยนต์ได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมฆหนาที่เกิดจากเถ้าถ่านสามารถส่งผลกระทบต่อเซ็นเซอร์หลายตัวบนเครื่องบิน อาทิ การอ่านความเร็วที่ผิดพลาด นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการมองเห็นของนักบินและอาจส่งผลต่อคุณภาพอากาศในห้องโดยสารทำให้จำเป็นต้องใช้หน้ากากออกซิเจน รวมถึงอนุภาคที่แหลมคมในเถ้าภูเขาไฟก็ทำให้เกิดรอยถลอกและความเสียหายต่อกระจกด้านหน้ารวมถึงภายนอกของเครื่องบินได้ แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อการบินทันที แต่ก็เป็นความเสียหายที่ต้องการการซ่อมแซมขนานใหญ่และบดบังทัศนวิสัยของนักบินเป็นอย่างมาก

กรณีร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือเครื่องยนต์ล้มเหลวอย่างสมบูรณ์ นั่นหมายถึงเครื่องบินเจ็ตจะกลายเป็นเครื่องร่อนที่ไร้การควบคุมใดๆ ทันที หากโชคช่วยการที่เครื่องยนต์เย็นลงอย่างรวดเร็วก็อาจกลับมาทำงานได้อีกครั้ง แต่ถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่กำลังขึ้นบินหรือลงจอดมันจะมีเวลาไม่มากพอที่จะรอให้มันกลับมาทำงานอีกครั้ง และนี่ต่างหากคือหายนะที่แท้จริง

สิ่งที่นักบินจะต้องทำ

เมื่อเจอกับเมฆหนาจากเถ้าถ่าน จะทำให้การมองเห็นของนักบินลดลง พวกเขาจะบินเลี่ยงหรือลดระดับความสูง เพื่อหลบจากเถ้าถ่านเหล่านั้น และการลดแรงขับเคลื่อนจะช่วยให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายได้น้อยลงนั่นเอง

หากประสบปัญหาพวกเขาจะมีศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านนี้โดยเฉพาะที่เรียกว่า Volcanic Ash Advisory Centers (VAACs) จำนวน 9 แห่ง ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ที่จะคอยให้คำแนะนำกับเหล่านักบิน แต่ทางที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงเส้นทางที่บินผ่านภูเขาไฟที่กำลังปะทุ หรือยกเลิกเที่ยวบินไปเลย

บทเรียนแสนแพงที่เคยเกิดขึ้น

เที่ยวบินอันโด่งดังในปี 1982 เมื่อสายการบิน British Airways เดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซียไปยังเมืองเพิร์ธของออสเตรเลีย เครื่องบิน Boeing 747 พร้อมกับผู้โดยสาร 247 คนต้องเผชิญกับเถ้าถ่านของภูเขาไฟในอินโดนีเซีย

กัปตันได้สังเกตเห็นไฟจากภูเขา St Elmo บนกระจกด้านหน้าและภายในไม่กี่นาทีการทำงานของเครื่องยนต์ทั้งสี่ตัวก็ล้มเหลว ทำให้เครื่องบินลดระดับลงจาก 11,300 เมตรมาเป็น 3,650 เมตร ก่อนที่เครื่องยนต์จะกลับมาทำงานอีกครั้ง และนักบินสามารถพาเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยที่สนามบินจาการ์ตา

และอีกครั้งในปี 1989 เที่ยวบิน KLM Boeing 747 ขึ้นบินหลังจากการระเบิดของ Mount Redoubt ในอะแลสกา สหรัฐอเมริกา โดยเที่ยวบินนี้เดินทางจากอัมสเตอร์ดัมไปยังกรุงโตเกียว เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น เครื่องยนต์ทั้งสี่หยุดทำงานและกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อเครื่องบินลดระดับลงมาถึง 4,000 เมตร และลงจอดที่สนามบิน Anchorage ได้ในที่สุด

(ตัวอย่างของเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบจากเถ้าถ่านภูเขาไฟของ Puyehue ในชิลี เมื่อปี 2011)

เหตุการณ์ครั้งสำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การระเบิดของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ในปี 2010 ที่ทำให้การยกเลิกเที่ยวบินส่งผลต่อเศรษฐกิจการบินรองมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องออกมากำหนดมาตรการป้องกัน และคำนวณค่าความเข้มข้นของเถ้าถ่านว่าในระดับไหนจึงจะสามารถทำการบินได้ โดยไม่ทำความเสียหายให้กับเครื่องยนต์

ถึงแม้ในเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่เราจะเสี่ยงให้เกิดความเสียหายขึ้นมาก่อนอย่างนั้นหรือ? การหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องพบกับเถ้าถ่านเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตของผู้โดยสารไว้ นี่คือสิ่งที่ทางการฟิลิปปินส์ต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น

ที่มา AccuweatherBBC

ภาพปก Electroverse

(1747)