ประวัติการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ เป็นความรู้ทางการแพทย์ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งหมอเหล่านี้ก็มีการนำเอาความรู้มาจากตำราบันทึกประสบการณ์ การบอกเล่าจากหมอรุ่นเก่า และกลายเป็นที่พึ่งพิงสำหรับชาวบ้านมาช้านาน

การแพทย์แผนไทยก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทยค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.1725-1729 โดยพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบการสร้างสถานพยาบาลที่เรียกว่า “อโธคยาศาลา” ทั้งหมด 102 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียงของไทย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประกอบไปด้วย หมอ พยาบาล และเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยารวมทั้งหมด 92 คน อีกทั้งยังมีการทำพิธี “ไภสัชยคุรุไวฑูรย์” ว่าด้วยอาหารและยา ในยุคนั้นยังมีการขุดค้นพบแท่งบดยาซึ่งเป็นแท่งหินมีปลายกลมมน พบว่าอยู่ในยุคสมัยทวารวดี โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ถูกบันทึกลงในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเกี่ยวกับการปลูกพืชสมุนไพรบริเวณเขาสรรพยาหรือเขาหลวง เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านให้สามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกายในยามจำเป็น

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีการจัดยาให้กับชาวบ้านที่เข้ามาทำการรักษาได้ถูกต้องมากขึ้น จากเดิมที่ชาวบ้านต้องหาเก็บเกี่ยวเอาเองตามสภาพความรู้ที่มี เริ่มปรากฏให้เห็นแหล่งจ่ายยาที่ชัดเจนมากขึ้น ร้านขายยาสมุนไพรเริ่มกระจายตัวเข้าใกล้แหล่งชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ด้านในหรือด้านนอกกำแพงเมือง ทำให้การซื้อหายาสมุนไพรได้ตรงกับโรคที่เป็น และมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตำรับยาโบราณเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์ บันทึกเป็น “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ที่ยังคงมีการใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้บางส่วนคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์แบบไปบ้าง ซึ่งในยุคนั้นผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการรักษา อย่างการนวดกดจุดเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูกที่ได้รับความนิยม ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกเริ่มที่การรักษาภูมิปัญญาโบราณรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ส่วนการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาท ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ในที่สุดก็ต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งในตำรามีการบันทึกตำรับยาเอาไว้มากถึง 81 ตำรับ ซึ่งบางตำรับยังมีการจดบันทึกวันเดือนปีที่ใช้ในการปรุงยาถ้วยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยาเกือบทุกตำรับที่ปรากฏจะมีการใช้เครื่องเทศเป็นส่วนผสม เช่น โกฐสอเทศ ยิงสม น้ำดอกไม้เทศ เป็นต้น

สมัยรัตนโกสินทร์

รัชกาลที่  1 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงโดยให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายาและฤาษีดัดตน ตำรานวดแผนไทยไว้ตามศาลาราย มีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถ ผู้รับราชการเรียกว่า “หมอหลวง” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุ การแต่งตั้งหมอหลวงในระยะแรกสันนิษฐาน ว่า คัดเลือกมาจากหมอราษฎร์ที่มีความรู้ความชำนาญเข้ามารับราชการ รวมทั้งคัดเลือกเชื้อพระวงศ์ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการแพทย์เป็นผู้กำกับดูแลกรมหมอ ต่อมามีการฝึกหัดบุตรหลานของหมอหลวง เริ่มตั้งแต่ให้เป็นลูกหมู่อยู่ในกรมหมอ และเลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับ

รัชกาลที่ 2 ทรงให้รวบรวมคัมภีร์แพทย์ที่กระจัดกระจายมารวบรวมไว้ ณ โรงพระโอสถ และให้กรมหมอหลวงคัดเลือกจดเป็นตำราหลวง สำหรับโรงพระโอสถเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในปีพ.ศ. 2359 มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ตรากฎหมาย ชื่อ“กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย” ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฎมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาเท่านั้น

 

รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทย์ ที่เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก เป็นแม่กองจัดประชุมหมอหลวงแต่งตำราและบันทึกตำรายาแผนโบราณต่างๆ พร้อมทั้งได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาราม และจารึกตำราไว้ในแผ่นศิลา ตามเสาระเบียงพระวิหาร รวมทั้งทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมมังคลาราม (วัดโพธิ์) อีกครั้ง ทรงให้นำสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและหายากมาปลูกไว้ ทั้งให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ เพื่อให้ราษฎรได้ศึกษาและนำไปใช้ในการรักษาตน โดยมิหวงห้ามไว้ในตระกูลใด นับได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก คือ “วิทยาลัยการแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์” ถือว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเปิด” แห่งแรกในประเทศไทย

รัชกาลที่ 4 การแพทย์ของประเทศไทยในสมัยนี้ แยกออกอย่างชัดเจนเป็นสองแผน คือ การแพทย์แผนเดิมหรือแผนโบราณ และการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการกำหนดข้าราชการฝ่ายวังหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ ได้แก่ ข้าราชการในกรมหมอ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอกุมาร กรมหมอยาตา หมอฝรั่ง

รัชกาลที่ 5  พระองค์พยายามที่จะทรงพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของไทยให้สามารถก้าวทันตามยุคสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมให้ตำราการรักษาแบบไทยเดิมที่มีค่าไม่สูญหายไป และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอาการเจ็บป่วยที่ยาสมัยใหม่ไม่สามารถทำการรักษาได้ ซึ่งการพัฒนานี้จะต้องมีมาตรฐานที่ดีพอ จะได้ช่วยให้ตำรายาเกิดความน่าเชื่อถือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแพทยากรขึ้นที่ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2433  เพื่อจัดการสอนเรื่องแพทย์ มีหลักสูตร 3 ปี  การเรียนมีทั้งวิชาแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนไทย และตีพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนเล่มแรก คือ แพทยศาสตร์-สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ในปี พ.ศ. 2438 โดยการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทย นำเอาข้อมูลจากตำราหลวงที่อยู่ในหอสมุดวชิรญาณนำมาศึกษาเล่าเรียน ยังมีการนำเอาตำรานวดแบบหลวง (ภาควิชาหัตถศาสตร์) มาให้แพทย์หลวงทำการชำระใหม่อีกครั้ง บวกรวมกับการนำเอาข้อมูลจากตำราแพทย์บาลี-สันสกฤตมาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่งนอกจากในส่วนนี้ หม่อมเจ้าปราณีทำการเรียบเรียงตำราเรียนเพิ่ม ซึ่งมีความเข้าใจง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็น สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุอภิญญาณ ปฐมจินดา อสุรินทญาณธาตุ ตำราธาตุวินิจฉัย ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการเลือกใช้ยา ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้พระองค์ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยเอาไว้ในปี พ.ศ.2433 คัดมาตอนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญว่า

“…ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหรือหาไม่ หมอไทยควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้า หรือควรมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองสมัคกินยาไทย แลยังวางใจหรืออุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาแบบฝรั่งหมด ดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จน เหนหมอไทหมดดอก คนภายหน้าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่า ๆ ทีหนึ่งเท่านั้น…”

รัชกาลที่ 6 ถือว่าเป็นช่วงตกต่ำของวงการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนโบราณ มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของแพทย์ มีการยกเลิกการเรียนวิชาการแพทย์ไทย โดยให้เหตุผลว่า การสอนวิชา การแพทย์ตามแบบไทยนั้นไม่เข้ากับแบบฝรั่ง

 

รัชกาลที่ 7 มีประกาศ พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ.2466 และออกกฎเสนาบดี พ.ศ.2472 แบ่งการประกอบโรคศิลปะ เป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ กำหนดว่า ก. ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม ซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้น อาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ข. ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยความสังเกตความชำนาญ อันได้บอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราที่มีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปทางวิทยาศาสตร์ การออกกฎเสนาบดีนี้เป็นเหตุให้การแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนโบราณแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง และทำให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

รัชกาลที่  8   มีการยกเลิก พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ.2466 แล้วตรา พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479 ขึ้นมาใช้แทน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังคงแบ่งการประกอบโรคศิลปะเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ และมีผลต่อการควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์อย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 63 ปี ในรัชสมัยนี้ มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรเพิ่มขึ้น เนื่องจากในระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2486 ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการลุกลามเข้ามาในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ทำวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลสัตหีบ หลังสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้โรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรค

 

รัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ มีการสอนทั้งวิชาเภสัชกรรม, เวชกรรม และการผดุงครรภ์ไทย และการนวดแผนโบราณ ตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2528 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลื่ยนของวงการแพทย์แผนไทย จากการที่กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิหมอชาวบ้าน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ร่วมกับ สมาคมแพทย์แผนโบราณต่าง ๆ ได้จัดสัมมนาฟื้นฟูการนวดไทยเป็นครั้งแรก และได้ก่อตั้ง โครงการฟื้นฟูการนวดไทย ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน โดยได้ความร่วมมือของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ยาสมุนไพรและยาแผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน พ.ศ. 2532 กระทรวงสาธารณสุข โดยมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการพัฒนาการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย เพื่อทำหน้าที่วางนโยบายและแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาการแพทย์แผนไทยเริ่มวางรากฐานการพัฒนาการแพทย์แผนไทยโดยการประสานความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 หน่วยงานนี้ได้โอนไปรวมกับสถาบันการแพทย์แผนไทย  ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสังกัดกรมการแพทย์ ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามลำดับ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2542 มีการประกาศ พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประการที่เอื้อต่อการพัฒนาการแพทย์แผนไทยมากขึ้น เช่น เปลี่ยนชื่อการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเป็นการแพทย์แผนไทย

 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจากเว็บไซต์ Hfocus และmedthai

(12267)