แค่ได้ยินชื่อก็อึ๋ยแล้ว สิ่งมีชีวิตประหลาดที่ได้ชื่อว่า “แมลงสาบทะเล” แถมไม่ใช่แมลงสาบทะเลธรรมดาด้วยนะ แต่เป็นแมลงสาบทะเลยักษ์!!!
“ไอโซพอด” (isopod) เป็นสิ่งมีชีวิตตระกูลครัสเตเชียน (สิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู และกั้ง) สามารถแบ่งออกได้ประมาณ 20 ชนิด มีทั้งอาศัยอยู่บนบก ตามโขดหิน ริมชายฝั่ง ทะเลลึก หรือบางชนิดก็เป็นปรสิตเกาะติดกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ
โดยทั่วไปแล้ว ไอโซพอดจะมีขนาดเล็ก แต่ไอโซพอดยักษ์ (Giant Isopod) (ชื่อวิทยาศาสตร์ Bathynomus giganteus) ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ มันโตได้ถึง 30 เซนติเมตรและหนักได้ถึง 1.7 กิโลกรัม!! ไอโซพอดชนิดนี้สามารถพบเจอได้ในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดจนมหาสมุทรอินเดีย ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 200-2,000 เมตร
ที่มาของชื่อแมลงสาบทะเล ได้มาจากการที่พวกมันไม่ค่อยล่าอาหารเอง แต่จะรอกินซากปลาที่ตกลงมาก้นทะเล เพราะว่าไอโซพอดยักษ์มีน้ำหนักเยอะเลยเคลื่อนไหวได้ช้ามาก มันจึงไม่สามารถว่ายน้ำแข่งกับปลาที่มีความเร็วสูงกว่าได้
ไอโซพอด ถือเป็นฟอสซิลที่มีชีวิตมาตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (354 – 295 ล้านปีก่อน) อันเป็นยุคของป่าเฟิร์นขนาดยักษ์ที่ปกคลุมห้วย หนอง คลองบึง ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทแมลงและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสามารถอาศัยอยู่ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มีทักษะการล่าที่โดดเด่น แต่มันก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดมาได้จนถึงในปัจจุบัน
มีหลายทฤษฎีในการอธิบายถึงสาเหตุที่สัตว์น้ำเปลือกแข็งในทะเลลึกมีขนาดใหญ่ ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึก จำเป็นต้องสะสมออกซิเจนมากกว่า ดังนั้นจึงมีร่างกายที่ใหญ่กว่า มีขายาวกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือ ไม่มีสัตว์นักล่ามากนัก ดังนั้นพวกมันจึงเติบโตจนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้โดยไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ สัตว์จำพวกบาทีโนมัส ยังมีเนื้อน้อยกว่าสัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดอื่น ทำให้พวกมันไม่เป็นที่ดึงดูดของสัตว์นักล่า
(1635)