ภาพอัลตราซาวน์ตัวอ่อนในครรภ์ ตัวช่วยสำคัญในการรักษาประชากรโลมาปากขวด

การแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางทะเลที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพของฝูงโลมา และเลวร้ายกว่านั้นคือสิ่งที่เกิดกับโลมาที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อจำนวนประชากรโลมามากขึ้นกว่าเดิม

หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล Deepwater Horizon เมื่อปี 2011 ทำให้ความสำเร็จในการให้กำเนิดลูกของโลมาปากขวด (Tursiops truncatus) นั้นลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่มาจากความล้มเหลวในการสืบพันธุ์ เช่น การตายของทารกในครรภ์ สภาพจิตใจ และโรคปอด ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับมลพิษอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

การทำความเข้าใจอย่างถูกต้องถึงปัญหาการตั้งท้องของโลมามีความสำคัญอย่างมากต่อการอนรุักษ์สายพันธุ์ของพวกมันไว้ แต่เทคโนโลยีอัลตราซาวน์ที่เคยใช้ในการตรวจสอบสุขภาพของลูกโลมาในท้องนั้นยังประเมินได้ไม่ชัดเจนและไม่ซับซ้อนนัก แต่ในตอนนี้พัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นช่วยให้เรามองเห็นรายละเอียดได้มากขึ้น

Forrest Gomez ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ National Marine Mammal Foundation (NMMF) กล่าวว่า “เทคนิคอัลตร้าซาวด์ขั้นสูงนี้ช่วยให้เราสามารถวินิจฉัยปัญหาได้เร็วขึ้นภายในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเพิ่มโอกาสในหาวิธีการที่จะรักษาครรภ์นั้นไว้” 

สำหรับมนุษย์และสัตว์ชนิดอื่นๆ การอัลตราซาวน์ได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสามารถช่วยรักษาชีวิตในครรภ์ไว้ได้จริงๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เทคนิคนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประเมินความสำเร็จในการสืบพันธุ์ของปลาโลมา รวมไปถึงการตรวจสอบปอด หัวใจ ตับ ระบบทางเดินปัสสาวะ  ระบบทางเดินอาหาร และระบบน้ำเหลืองอีกด้วย

ตั้งแต่ปี 2010 – 2017 ทีมนักวิจัยของ NMMF ได้ตรวจสุขภาพโลมาปากขวดจำนวน 12 ตัว ในการตั้งท้อง 16 ครั้งอย่างใกล้ชิด และล่าสุดพวกเขาได้เปิดเผยภาพอัลตราซาวน์ของโลมาปากขวดที่กำลังตั้งท้องออกมาเป็นครั้งแรก

ในการศึกษานี้ตัวอย่างของโลมาได้รับการอัลตราซาวน์กว่า 200 ครั้ง  โดยในแต่ละครั้งมีการใช้ตัวชี้วัดจำนวนมากเพื่อให้มีความแม่นยำในการระบุอายุของตัวอ่อน การเปลี่ยนแปลงของรก และมดลูก ซึ่งข้อมูลของครรภ์ที่เป็นปกติเหล่านี้จะช่วยระบุความผิดปกติที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยของทารกในอนาคตได้ และพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความล้มเหลวในการสืบพันธุ์ และผลกระทบต่อประชากรโลมา

Cynthia Smith ผู้อำนวยการบริหารของ NMMF กล่าวว่า “ตอนนี้เราสามารถใช้อัลตราซาวน์ในการตรวจสอบครรภ์โลมาที่มีอายุเพียง 20 สัปดาห์ได้ ซึ่งทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงความท้าทายที่แม่โลมาและลูกของมันต้องเผชิญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอนุรักษ์ประชากรโลมาปากขวด รวมถึงสัตว์ในตระกูลวาฬขนาดเล็กทั่วโลก 

หลังการรั่วไหลของน้ำมันใต้ทะเลลึก โลมาเพศเมียที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวให้กำเนิดลูกได้สำเร็จเพียง 19 เปอร์เซนต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับโลมาที่อาศัยอยู่ในบริเวณอื่นที่ประสบความสำเร็จถึง 65 เปอร์เซนต์ และเป็นภาพที่โหดร้ายมาก เมื่อแม่โลมาหลายตัวต้องแบกร่างของลูกที่ตายแล้วไปรอบๆ ในช่วงปีแรกหลังการรั่วไหล โลมาบริเวณอ่าว Barataria มีอัตราการล้มเหลวในการให้กำเนิดลูกสูงกว่าโลมาในบริเวณที่ไม่มีการรั่วไหลถึง 4 เท่า และมีรายงานลูกโลมาเกยตื้นสูงกว่าปกติ

เทคโนโลยีการอัลตราซาวน์ที่ช่วยให้เห็นพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของตัวอ่อนโลมา จึงเป็นความหวังในการดูแลสายพันธุ์โลมาที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลพิษ

(324)