หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ค้นพบแมงกะพรุนรูปร่างแปลกตาบริเวณพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก

นี่มันผีหรือเอเลียนกันแน่? นี่คือคำถามของทีมนักวิทยาศาสตร์หลังจากที่เห็นภาพจากหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำของ Nautilus research vessel ที่เผยให้เห็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาดโฉบผ่านกล้องไป เหนือพื้นทรายของมหาสมุทรแปซิฟิก

ในระยะเวลาเพียงไม่นาน มันก็เปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็ว จากรูปร่างคล้ายระฆังกลายเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขยายออกเป็นแนวยาว จนคล้ายกับว่าลำตัวของมันคลุมด้วยผ้าโปร่งแสงผืนใหญ่

นักวิจัยเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วมันคือแมงกะพรุนชนิดหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มีชื่อว่า Deepstaria ค้นพบเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1960 ในตอนนี้พวกเขายังไม่สามารถอธิบายได้ว่าพวกมันสามารถแผ่ขยายอวัยวะคล้ายผ้าคลุมนี้ได้อย่างไร พวกเขารู้เพียงว่ามันสามารถขยายได้กว้างพอสำหรับจับเหยื่อที่เข้ามาใกล้

ส่วนจุดสีแดงปริศนาที่อยู่ในผ้าคลุม เมื่อพวกเขาซูมเข้าไปใกล้เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ก็พบว่ามันคือสัตว์เปลือกแข็งขนาดเล็กที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจงใจเข้ามาในลำตัวที่เปิดโล่งของแมงกะพรุนเพื่อเหตุผลในการหลบหลีกนักล่า และนักวิจัยยังพบสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ในแมงกะพรุนตัวอื่นๆ ด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกันในรูปแบบใดกันแน่

จากการศึกษาเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับแมงกะพรุนนี้ พบว่าพวกมันอาศัยอยู่ในความลึกประมาณ 750 เมตร บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือกึ่งกลางระหว่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ไม่แน่ว่าทีมนักวิจัยอาจได้พบพวกมันมากขึ้นขณะที่ออกสำรวจใต้ทะเลลึกในแถบนี้ช่วงเดือนตุลาคม

(1584)