ไข้ลาสซาในไนจีเรีย คร่าชีวิตคนไปแล้ว 29 รายใน 11 รัฐ

ในขณะที่ฝั่งเอเชียกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ทางฝั่งแอฟริกาก็กำลังเผชิญกับโรคร้ายเช่นเดียวกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม มีการยืนยันแล้วว่า ในประเทศไนจีเรียมีผู้ป่วยไข้ลาสซา (Lassa fever) แล้ว 195 ราย และมีผู้เสียชีวิต 29 ราย ใน 11 รัฐ

ศูนย์ควบคุมโรคระบาดของไนจีเรีย (NCDC) และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติ (EOC) ได้วางมาตรการร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการกับระบาด ดร.Chikwe Ihekweazu ผู้อำนวยการทั่วไปของ NCDC กล่าวว่าการระบาด 89% มาจากรัฐ Ondo, Edo และ Ebonyi ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการระบาด

โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติ ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (NEMA) กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทแห่งชาติ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอื่น ๆ 

Ihekweazu กล่าวว่าในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา NCDC ได้จัดทีม Rapid Response Teams เพื่อช่วยเหลือ 5 รัฐที่ได้รับผลกระทบโดยดร. Osagie Ehanire รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำคณะผู้แทนระดับสูงไปยังรัฐ Kano เมื่อวันที่ 25 มกราคม เนื่องจากการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่การแพทย์ 2 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว

นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์ยังทำให้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า NCDC ได้เพิ่มมาตรการในการสื่อสารไปยังชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว เพื่อให้แน่ใจว่าชาวไนจีเรียมีความตระหนักถึงความรุนแรงของไข้ลาสซา และวิธีการป้องกันตนเองรวมถึงให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยมีหน่วยงานกระจายอยู่ในหลายรัฐสำหรับให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ

Ihekweazu อธิบายว่า อัตราการเสียชีวิตจากการระบาดของไข้ลาสซาลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 มีอัตราผู้เสียชีวิต 23.4 เปอร์เซนต์ ขณะที่ในปีนี้มีอัตราผู้เสียชีวิต 14.8 เปอร์เซนต์ และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในไนจีเรียมีห้องทดลองจำนวน 5 แห่งที่มีความสามารถในการวินิจฉัยโรค สามารถลดระยะเวลาในการระบุและคัดกรองผู้ป่วยได้ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้เมื่อใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ

“ไนจีเรียได้สนับสนุนการวิจัยและกระบวนการอื่นๆ เพื่อพัฒนาวัคซีนไข้ลาสซา โดย NCDC และอีก 3 หน่วยงานหลักได้แก่ โรงพยาบาล Irrua Specialist Teaching Hospital, ศูนย์การแพทย์ Owo and Alex Ekwueme ของรัฐบาลกลาง และโรงพยาบาลแห่งชาติ  Abakalilki ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยและกิจกรรมอื่นๆ”

ไข้ลาสซาเป็นโรคประจำถิ่นของไนจีเรียซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในทุกรอบปี โดยมีสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะนำโรค และด้วยจำนวนสัตว์พาหะที่มีมากนี้เองที่ก่อให้เกิดการระบาดในวงกว้างทั้งในไนจีเรียและประเทศใกล้เคียง

ไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสลาสซา (Lassa virus)  สายพันธุ์ Arenavirus แพร่เชื้อจากสัตว์ประเภทหนู โดยการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรือสัมผัสอุจจาระ ปัสสาวะ สารคัดหลั่งอื่นๆ ของหนูที่เป็นพาหะ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือดื่มนํ้าที่ปนเปื้อน และยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสเลือด ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งอื่นๆ จากผู้ที่ติดเชื้อ วิธีการหลีกเลี่ยงคือการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อ รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยและหลีกเลี่ยงการข้องเกี่ยวกับสัตว์ฟันแทะ

เชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัว 7 –  21 วัน อาการเริ่มต้นของโรคคือ มีไข้ ปวดหัว ท้องร่วง ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และอื่นๆ โดยในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกทางส่วนเปิดของร่างกาย เช่น จมูก ปาก จนอาจเกิดภาวะตกเลือด ช็อก และเสียชีวิต หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาไข้มาลาเรียหรือโรคอื่นๆ ภายใน 48 ชั่วโมง ให้จัดเป็นไข้ลาสซาในทันที ซึ่งในขณะนี้หากพบผู้มีอาการดังกล่าว ให้ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสงสัยว่าเป็นไข้ลาสซาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย และใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานการดูแลเมื่อจัดการผู้ป่วยเพื่อป้องกันตนเองด้วย

ที่มา Guardian Nigeria

(9849)