นักวิจัยในญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจที่เพาะเลี้ยงจากห้องทดลองได้เป็นครั้งแรก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากาในญี่ปุ่น ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจจากการเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลองให้กับมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก

ความสำเร็จในครั้งนี้ ไม่ใช่การสร้างส่วนประกอบภายในหัวใจ หรือการแทนที่หัวใจทั้งดวง แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายแผ่นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจในส่วนที่ได้รับความเสียหาย หากกระบวนการนี้ได้ผลอย่างดีเยี่ยม ในอนาคตก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจทั้งหมดอีกต่อไป

ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจนี้ ทีมนักวิจัยเริ่มต้นจากการนำเซลล์ต้นกำเนิดประเภท Pluripotent stem (iPS) cells มาจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถแบ่งตัวและพัฒนาเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิด แล้วนำมาดัดแปลงใหม่เพื่อให้กลับสู่ระยะพร้อมแบ่งตัวอีกครั้ง

สิ่งสำคัญคือต้องค่อยๆ ดัดแปลงทีละนิดจนอยู่ในระยะที่สามารถสร้างเป็นประเภทเซลล์ที่ตรงกับความต้องการได้ โดยในกรณีนี้พวกเขาใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นก่อนที่จะนำไปแปะลงบนแผ่นเล็กๆ 

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเป็นรายแรกนี้ประสบภาวะหัวใจขาดเลือด เนื่องจากกล้ามเนื้อได้รับเลือดไม่เพียงพอ จนส่งผลให้การสูบฉีดของหัวใจไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งหากความบกพร่องนี้มีความรุนแรงผู้ป่วยจะต้องได้รับการปลูกถ่ายหัวใจใหม่ แต่ทีมนักวิจัยหวังว่าการปลูกถ่ายเฉพาะส่วนนี้จะช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อบนแผ่นเนื้อเยื่อ สามารถหลั่งโปรตีนที่ช่วยในการสร้างเส้นเลือดใหม่ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของหัวใจของผู้ป่วยได้

ทีมนักวิจัยวางแผนที่จะติดตามอาการของผู้ป่วยรายนี้ไปอีก 1 ปี และหวังว่าจะสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับผู้ป่วยอีก 9 รายที่ประสบปัญหาเดียวกันได้ภายใน 3  ปีข้างหน้านี้

ถ้าทุกเคสสามารถผ่านไปได้ด้วยดี กระบวนการนี้จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปลูกถ่ายหัวใจ เพราะไม่เพียงแค่การหาเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถเข้ากับหัวใจนั้นจะเป็นไปได้ง่ายกว่าแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังสามารถยอมรับเซลล์ใหม่ได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนอวัยวะใหม่อีกด้วย

Yoshiki Sawa ตัวแทนทีมวิจัยกล่าวต่อ The Japan Times อีกว่า เขาหวังว่าการปลูกถ่ายนี้จะกลายเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเขาเองก็ไม่อยากเผชิญกับการที่ผู้ป่วยหลายคนไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาอย่างที่เคยผ่านมาเช่นกัน

ที่มา Science alert , futurism

(1694)