แพทย์ค้นพบวิธีการใหม่ในการยื้อชีวิตผู้ป่วยสาหัส ด้วยการลดอุณหภูมิร่างกาย

หากใครเป็นคอหนังไซไฟ หรือหนังแนวท่องอวกาศคงจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างกับการแช่แข็งหรือลดอุณภูมิเพื่อรักษาสภาพร่างกายไว้ ตอนนี้ฉากเหล่านั้นเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เมื่อทีมแพทย์ค้นพบวิธีการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ที่บาดเจ็บสาหัสได้

กระบวนการนี้ทำได้โดยการลดอุณภูมิของสมองให้ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว โดยการแทนที่เลือดของผู้ป่วยด้วยน้ำเกลือเย็นซึ่งสูบฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแดงใหญ่โดยตรง แทนที่เลือดที่ส่งจากหัวใจไปยังทั่วร่างกาย โดยเรียกวิธีการนี้ว่า Emergency Preservation and Resuscitation หรือ EPR

ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่จะได้ทดลองใช้วิธีการนี้ ได้แก่ผู้ที่บาดเจ็บสาหัสและมีโอกาสเสียเลือดมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิต และผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งโดยปกติจะมีโอกาสรอดเพียง 5% เท่านั้น

Samuel Tisherman หนึ่งในคณะวิจัยจาก University of Maryland อธิบายว่า การทำให้ร่างกายผู้ป่วยเย็นลงอย่างฉับพลันจะช่วยลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งทำให้มีเวลาในการรักษาเพิ่มขึ้นหลายนาที หรืออาจนานกว่า 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว หลังจากการรักษาร่างกายของพวกเขาก็จะถูกทำให้อุ่นขึ้นและกลับสู่ภาวะการทำงานปกติอีกครั้ง

อีกหนึ่งเป้าหมายหลักของการรักษาด้วยวิธีนี้คือการลดความเสียหายที่จะเกิดกับสมองเมื่อขาดออกซิเจนนานเกิน 5 นาที ซึ่งเป็นภาวะที่มักจะพบในผู้ป่วยที่บาดเจ็บสาหัสแม้จะสามารถรักษาบาดแผลไว้ได้ก็ตาม เนื่องจากการที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปยังสมองได้ขณะที่ทำการรักษา ซึ่งการทำงานของสมองที่ลดลงจากการแช่แข็งจะช่วยให้มีการใช้ออกซิเจนลดลงด้วยนั่นเอง

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทีมวิจัยจะประสบความสำเร็จในการช่วยชีวิตหมูจำนวนหลายตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ โดยการทดลองวิธีการรักษาแบบใหม่นี้จะสิ้นสุดลงในปี 2020 และจะมีการสรุปผลอีกครั้งว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้หรือไม่ และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องศึกษาคืออาจมีเซลล์บางส่วนที่เสียหายขณะที่เพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกายหลังการผ่าตัดได้

หลายคนคงคาดหวังว่านี่เป็นวิธีการที่จะทำให้เราสามารถเดินทางในอวกาศได้นานขึ้นหรือไม่ แต่ Tisherman กล่าวว่าการวิจัยนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงการเดินทางในอวกาศ และทางนาซาเองก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกล เพราะยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับข้อจำกัดของร่างกายที่ต้องศึกษาต่อไป

ด้าน Kevin Fong ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีแพทย์จากโรงพยาบาล University College London และผู้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า “Extremes: Life, Death and the Limits of the Human Body” กล่าวว่า ศัลยแพทย์ทรวงอกได้ใช้วิธีที่คล้ายกันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่นี่เป็นการขยายผลนำเทคนิคนั้นไปใช้ในแผนกฉุกเฉินหรือแพทย์สนาม ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดได้มากขึ้น

ที่มา The Guardian

(2105)