10 กันยายน วันป้องกันฆ่าตัวตายโลก

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น วันป้องกันฆ่าตัวตายโลก ทั้งนี้เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่สามารถป้องกันได้ โดยรณรงค์ให้มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต อันจะนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร สร้างความเสียหายแก่บุคคล ญาติ มิตร รวมไปถึงประเทศชาติและสถานภาพทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจคาดเดาได้ อันเนื่องมาจากการสูญเสียทรัพยากรที่ยังทำสามารถทำคุณประโยชน์ได้

ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญๆคือ สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention; IASP) ในฐานะองค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกและมีเครือข่าย ทั้งผู้เชี่ยวชาญ เหยื่อผู้รอดชีวิต ญาติบุคคลในครอบครัว อาสาสมัคร ฯลฯ อยู่ทั่วทุกภูมิภาคในโลก ทำหน้าที่ด้านวิชาการ ข้อมูลข่าวสาร เวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน เพื่อสร้างความตระหนักในปัญหา โดยมีกิจกรรมสม่ำเสมอตลอดมา ซึ่งปีนี้มีคำขวัญว่า “Working together to prevent suicide”

ซึ่งในประเทศไทยเอง กรมสุขภาพจิต โดย รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ได้เฝ้าระวังปัญหาและมีแนวทางส่งเสริมป้องกันปัญหาอยู่ตลอดมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ในการเฝ้าระวังติดตามอัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทยไม่ให้เข้าสู่โซนอันตราย นั่่นคืออัตราฆ่าตัวตายเท่ากับหรือมากกว่า 15 ต่อประชากรแสนคนขึ้นไป ซึ่งอัตราฆ่าตัวตายข้อมูลล่าสุดปี 2560 อยู่ที่ 6.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตามกรมสุขภาพจิตในฐานะผู้รับผิดชอบ ซึ่งยังคงเฝ้าระวังปัญหาโดยติดตามการขึ้นลงของอัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยภาพรวมของทั้งประเทศ อัตราฆ่าตัวตายจะไม่สูง แต่เมื่อดูรายจังหวัดยังมีหลายจังหวัดน่าเป็นห่วงอยู่ ซึ่งทำให้กรมสุขภาพจิตยังมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ภาคเหนือยังถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศ ข้อมูลปี 60 พบว่า 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออก ดังนี้ แม่ฮ่องสอน เป็นแชมป์ปีนี้คือ มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ 14.55 ต่อประชากรแสนคน ส่วนจังหวัดอื่นๆมีตัวเลขสองตัว อาทิเช่น น่าน 12.13 ตราด 11.86 แพร่ 11.83 ลำปาง 11.54 เชียงราย 11.4 เชียงใหม่ 11.18 จันทบุรี 10.93 พะเยา 10.71 และตาก 9.96 ทั้งนี้ภาคใต้ มีอัตราฆ่าตัวตายต่ำมาก โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัตตานี 0.7 ยะลา 1.15 นราธิวาส 1.26 ต่อประชากรแสนคน

ที่มา กรมสุขภาพจิต

(392)