ไดโนเสาร์ในท้องจระเข้

ไดโนเสาร์ในท้องจระเข้

ไดโนเสาร์ในท้องจระเข้ เมื่อปี 2010 นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ของออสเตรเลีย ได้ค้นพบฟอสซิลของจระเข้โบราณและอาหารมื้อสุดท้ายที่มันได้กินเข้าไปก่อนตาย ใน Great Australian Super Basin ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงยุคครีเทเซียส (ประมาณ 145.5 ล้าน ถึง 65.5 ล้านปีก่อน) สันนิษฐานว่ามันมีความยาวถึง 8 ฟุต หรืออาจยาวกว่านี้ขณะที่มีชีวิตอยู่

จระเข้อาศัยอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ครั้งแรกในยุคไทรแอสสิก (251.9 ล้าน ถึง 201.3 ล้านปีก่อน) และมีหลักฐานก่อนหน้านี้ที่ว่าไดโนเสาร์บางสายพันธุ์เคยเป็นอาหารของจระเข้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการพบรอยฟันบนกระดูกของไดโนเสาร์ และบางกรณีมีฟันของจระเข้ฝังอยู่ บอกได้เป็นนัยว่าจระเข้บางตัวกินไดโนเสาร์เป็นอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการล่า หรือการกินซากของมัน แต่นักบรรพชีวินวิทยาไม่เคยพบซากในท้องของจระเข้โดยตรง อาจจะเป็นเพราะกระเพาะของพวกมันมีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับจระเข้ในปัจจุบัน

จากการศึกษาล่าสุดระบุว่า แม้ว่าฟอสซิลจระเข้ที่ได้ค้นพบจะมีส่วนหางที่หายไป แต่ก็มีส่วนอื่น ๆ ที่ยังไม่บุบสลาย เช่น ขาหลังและกระดูกเชิงกราน กระโหลกศรีษะ กระดูกในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในช่องท้องซึ่งพบกระดูกไดโนเสาร์อยู่ภายใน ทำให้การค้นพบครั้งใหม่นี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ถูกจระเข้ยักษ์กินเป็นอาหารในยุคครีเทเซียส

แต่เนื่องจากกระดูกในท้องมีขนาดเล็กและบอบบางมาก เกินกว่าที่จะดึงมันออกมาจากฟอสซิลที่เเข็งได้ นักวิจัยจึงทำการสแกนส่วนท้องของจระเข้ด้วยการเอ็กซเรย์ และสร้างแบบจำลองของกระดูกพวกนั้นแทน จึงพบว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชสายพันธุ์ออร์นิโทพอด มีน้ำหนัก 1.7 กิโลกรัม โครงกระดูกของไดโนเสาร์ยังคงเชื่อมต่อกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ หลังจากมันถูกจระเข้กลืนเข้าไป และในขณะที่จระเข้ยักษ์กำลังเคี้ยวมัน ก็ได้ทำให้ขานิโทพอดหักข้างหนึ่ง และอีกข้างก็มีฟันจระเข้ฝังอยู่ด้วย แต่จระเข้ตายลงหลังจากนั้นไม่นาน จึงทำให้ซากในท้องของมันยังไม่ถูกย่อยจนหมด

Matt White หัวหน้าทีมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งออสเตรเลีย ระบุว่าไดโนเสาร์เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่มีส่วนสำคัญของระบบนิเวศในยุคครีเทเซียส ฟอสซิลจระเข้ยุคก่อนประวัติศาสต์ตัวนี้และอาหารมื้อสุดท้ายของมัน คือเบาะแสสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์และพฤติกรรมของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียเมื่อหลายล้านปีก่อนได้

(4217)