สะพานเชือกของชาวอินคา

สะพานเชือกของชาวอินคา ในอดีตชาวอินคาเดินทางด้วยการเดินเท้าเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องมีสะพานเชือกแขวนเหนือหุบเขาและแม่น้ำเพื่อใช้ในการสัญจร วัสดุที่ใช้คือหญ้าอิชู (Jarava ichu) นำมาถักเป็นมัดใหญ่ ทำให้ได้สะพานที่มีความแข็งแรงมาก และมักจะมีการซ่อมแซมเปลี่ยนเชือกสะพานเป็นประจำทุกปีเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงเสมอ

ทุกๆ ฤดูใบไม้ผลิ บรรดาชนพื้นเมืองจะร่วมมือร่วมใจกันจากคนละฝั่งของแม่น้ำ เพื่อฟั่นเชือกความยาวมากกว่าร้อยฟุต ความหนาพอๆ กับต้นขามนุษย์ สำหรับซ่อมแซมสะพานเก่า โครงสร้างเก่าๆ จะถูกตัดและทิ้งลงไปยังเบื้องล่าง และตลอดสามวันของการการทำงาน สวดภานา และเฉลิมฉลอง สะพานใหม่จะปรากฏให้ได้ยลโฉมกัน นี่คือเรื่องราวของสะพานเกสวาชาก้า (Q’eswachaka) ที่ถูกสร้างและสร้างซ้ำขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 5 ศตวรรษ

 

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ที่สะพานแห่งนี้ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านที่ตั้งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำ ในจังหวัด Canas ประเทศเปรู ย้อนกลับไปในอดีตสะพานเชือกลักษณะนี้ถูกสร้างขึ้นมากมายในยุคสมัยของอารยธรรมอินคา เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางในฐานะ “Great Inca Road” สะพานเหล่านี้รวมกันมีความยาวราว 40,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อชุมชนห่างไกล และช่วยให้ทหาร ผู้ส่งสาร ไปจนถึงประชาชนทั่วไปเดินทางมายังอาณาจักรของจักรพรรดิ

เครือข่ายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ชาวอินคามองว่าจะใช้เชื่อมต่อไปทั่วโลก รายงานจาก José Barreiro ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกละตินอเมริกา จากศูนย์วิจัยและพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน โดย Barreiro เองทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ร่วมนิทรรศการ Inca Road ทั้งยังทำงานวิจัยเกี่ยวกับสะพานเกสวาชาก้า

สะพานเชือกอินคาแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ Q’iswa Chaka หรือ Queshuachaca ที่ทอดข้ามแม่น้ำ Apurimac ใกล้กับ Huinchiri ในประเทศเปรู แม้ว่าจะมีสะพานสมัยใหม่อยู่ใกล้ ๆ แต่ผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ยังคงต่ออายุสะพานเป็นประจำทุกปีในเดือนมิถุนายน กลุ่มครอบครัวหลายกลุ่มจะเตรียมเชือกหญ้าจำนวนหนึ่งเพื่อทำเป็นสายขึง ขณะที่คนอื่น ๆ จะช่วยกันเตรียมถักเสื่อสำหรับปูพื้นสะพาน เพื่อรักษาประเพณีและทักษะแบบโบราณให้คงอยู่ต่อไป

ภาพ Leonard7hc

(265)