เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ได้เป็นพันปี เมล็ดบัวหลวง สายพันธุ์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และไทย โดยทั่วไปฝักบัว 1 ฝักจะมีเม็ดบัวอยู่ประมาณ 7-10 เม็ด เม็ดบัวอ่อนมีรสฝาดหอม นอกจากจะมีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง บำรุงไขข้อ ทำให้กระชุ่มกระชวย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน แก้อ่อนเพลียได้แล้ว เมล็ดบัวแก่ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 1,300 ปีเลยทีเดียว
ลักษณะบัวหลวง เป็นบัวขนาดใหญ่ จัดเป็นพืชน้ำ มีอายุหลายปี และออกดอกตลอดปี มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน (เรียกว่าเหง้าหรือไหล) มีก้านใบและ ก้านดอกโผล่พ้นดินขึ้นมา ชูใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ก้านดอกและก้าน ใบของบัวหลวงมีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นก้านแข็งผิวเป็นหนามสั้นๆ ขรุขระ ภายในก้านใบ มีรูพรุน เมื่อหักออกจากกันจะมีเส้นใยสีขาวเชื่อมกันมากมายเรียกว่าใยบัว
ใบบัวหลวงเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบชูเหนือน้ำ รูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-50 ซม. โคนเว้าตื้น ของเรียบ และเป็นคลื่น ผิวเรียบมีนวลขาวเคลือบตลอดหลังใบ ทำให้น้ำไม่เกาะ ดอก เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ปลายก้าน ดอก เมื่อตูมเป็นรูปไข่ปลายแหลม เมื่อบานมีกลีบดอกแผ่ออกโดยรอบ เป็นวงกลมคล้ายกับทานตะวัน มีกลีบดอกขนาดใหญ่ประมาณ 20 กลีบ กลางดอกเป็นรังไข่ ปลายแบนราบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นเส้นล้อมรอบรังไข่เป็นจำนวนมาก
ทรงดอกบัวหลวงมี 2 แบบ คือ ทรงปกติ ค่อนข้างเรียวยาว เรียกว่า ดอกฉลวย ส่วนชนิดหนึ่งทรงดอกป้อม เป็นชนิดดอกซ้อน รากบัวหลวงมีลักษณะเป็นเหง้า หรือไหลหยั่งลงไปในดินลึก เป็นรากเก็บอาหาร ขนาดใหญ่ทรงกลมยาว คืบไปตามแนวนอนใต้ดิน และเป็นปล้อง เนื้อในมีรู สำหรับส่วนของบัวหลวงที่นำไปทำยาคือ เกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง โดยเก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด
วิธีการปลูกบัวหลวงด้วยเมล็ดแก่สีดำ ต้องนำไปถูกับกระดาษทรายให้เห็นเนื้อสีขาวข้างในประมาณ 3-4 ด้าน แล้วนำดินเหนียวแช่น้ำจนท่วมใส่เมล็ดบัวกดลงไปให้จมลงในดิน ส่วนใหญ่จะอนุบาลต้นบัวประมาณ 1-2 เดือนแล้วจึงนำไปปลูก
ภาพ KENPEI
(201)