ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ไวรัส COVID-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยมีการปอดอักเสบไปจนถึงการเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาช้า ซึ่งไวรัสนี้มีผลกระทบกับกลุ่มคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน หลายพื้นที่เริ่มมีคนติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษา เห็นทีไวรัสนี้คงอยู่อีกนานหลายเดือน
จากการที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนรัฐ-เอกชนทั่วประเทศ รวมถึงบางสำนักงาน บริษัทต่างๆ ก็พากันเตรียมความพร้อมเพื่อ Work From home นอกจากการที่เราต้องกักตัวเองอยู่บ้านนานๆ อาจจะ 7 วัน 14 วัน หรืออาจจะเป็นเดือนๆ เพื่อปกป้องไม่ให้ตัวเองต้องออกไปเจอคนหมู่มากแล้ว อาหารการกินก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างสุขภาพ
หลายคนเลือกที่จะเก็บวัตถุดิบจำพวกของสดแทนการกักตุนอาหารกระป๋องและอาหารแห้ง หากจะต้องเลือกผักไว้ประกอบอาหารในช่วงกักตัว ผักชนิดไหนบ้างที่ควรนำออกมารับประทานก่อน-หลัง
กลุ่มผักที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ ผักกาดหอม, ผักบุ้ง, ชะอม, ถั่วงอก, ผักชี โดยกลุ่มนี้เป็นผักที่มีใบบาง ช้ำง่าย แต่สามารถยืดเวลาได้โดยการตัดขวดพลาสติกแล้วนำผัก เช่น ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย ใส่ลงไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกดทับ กลุ่มที่สองคือผักที่เก็บได้ในระยะเวลาปานกลาง ได้แก่ ถั่วลันเตา, ผักกาดขาว, คะน้า , มะเขือเทศ, แตงกวา และกลุ่มที่ควรมีติดไว้ คือผักที่สามารถเก็บได้นาน ได้แก่ ฟักแฟง, หอม, กระเทียม, ฟักทอง, เผือก, แครอท และกะหล่ำปลี
ในส่วนของเนื้อสัตว์ เน้นไปที่วิธีการเก็บรักษาเพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น สิ่งที่ควรมีติดไว้คือ เนื้อสัตว์สับ อย่างหมูสับ เนื้อสับ ควรแบ่งใส่ถุงเล็กๆ แค่พอนำออกมารับประทานครั้งละถุง แล้วนำแช่ช่องแข็ง ส่วนเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้น ควรมีความแห้งพอประมาณ นำใส่ถุงแล้วไล่อากาศออก ซึ่งทำได้โดยการค่อยๆ จุ่มถุงใส่เนื้อสัตว์ลงไปในอ่างน้ำเพื่อไล่อากาศก่อนปิดผนึกถุง แล้วนำเข้าตู้เย็น จะช่วยยืดอายุการเก็บเนื้อไว้ได้ หรือหากอยากให้เก็บไว้ได้ 3-5 วัน แต่ไม่อยากนำเข้าช่องฟรีซ สามารถนำถุงเนื้อใส่ลงกล่อง เติมน้ำและน้ำแข็งพอท่วม แล้วนำไปแช่ในช่องธรรมดาได้
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Rakbankerd และ Baanlaesuan
(591)