สีน้ำเงินอาจเป็นสีที่หาได้ทั่วไปบนโลกใบนี้ แต่นับว่าเป็นสีที่หาได้ยากมากในธรรมชาติ แม้ว่าท้องฟ้าหรือท้องทะเลจะเป็นนี้เฉดนั้น แต่ฟ้า-สีน้ำเงินบนตัวสัตว์นั้นหาได้ยากมาก สาเหตุที่สีน้ำเงินหาได้ยากเป็นเพราะช่วงเม็ดสีของมันค่อนข้างแคบ สีบางสีอาจเห็นได้ทั่วไปบนสัตว์บางชนิด นั่นเป็นเพราะความสามารถของพวกมันในการผลิตเม็ดสีหรืออาจจะได้สีนั้นมาจากการอาหารที่พวกมันกิน ตัวอย่างเช่น เมลานิน (melanin) เม็ดสีที่พบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่งที่ผลิตโดยสัตว์ ทำให้สีขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่และขนนกบางชนิดเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ในขณะเดียวกัน เม็ดสีสีแดงและสีส้มผลิตโดยแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ในพืชและสาหร่าย เมื่อสัตว์เช่นจำพวกกุ้งกินพืชเหล่านั้นเข้าไป พวกมันจะมีสีชมพูและสีแดงที่แตกต่างกันไป นกฟลามิงโกยังได้รับสีชมพูจากแคโรทีนอยด์ที่พบในกุ้งที่พวกมันกินอีกด้วย แม้พืชจะผลิตเม็ดสีฟ้า-น้ำเงินได้จาก anthocyanins แต่ในสัตว์ส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างเม็ดสีฟ้าได้ สัตว์สีฟ้า- น้ำเงินบางตัวไม่ได้ผลิตเม็ดสีแต่มีโครงสร้างที่ช่วยเห็นเป็นสีเฉดนั้น ซึ่งเรามักจะเห็นเป็นแสงสะท้อนหรือสีรุ้งๆ บางจุด
1. นกบลูเจย์ (Blue Jay) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Cyanocitta cristata พวกมันผลิตเมลานินซึ่งมีสีดำ ดังนั้นขนของมันควรเป็นสีดำ แต่ถุงลมเล็กๆในขนของพวกมันช่วยกระจายแสงจึงทำให้ขนมันดูเป็นสีฟ้าดังนั้นเมื่อสีฟ้าที่โดดเด่นของพวกมันไม่ได้เกิดจากเม็ดสีพวกมันเปลี่ยนสีของขนให้กลับไปเป็นสีดำได้โดยการเปลี่ยนโครงสร้างและเมื่อขนของพวกมันมีจุดที่เสียหายก็จะปรากฏเป็นสีดำขึ้น เหตุที่สีฟ้าเหล่านั้นหายไปเพราะการกระเจิงของแสงถูกรบกวน
2. อิกัวนาสีฟ้า (blue iguana) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cyclura lewisi เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ พวกมันเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้บนเกาะแกรนด์เคย์แมน ในทะเลแคริบเบียนฝั่งตะวันตก ถือเป็นสัตว์บกประจำถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะ มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร และมีอายุยืนได้ถึง 69 ปี
สีฟ้าบนตัวพวกมันจะปรากฏให้เห็นชัดตอนพวกมันโตเต็มวัย และสามารถเปลี่ยนกลับเป็นสีเทาเพื่อให้กลมกลืนกับโขดหินที่พวกมันอยู่อาศัยได้ พวกมันจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเมื่อเจอสายพันธุ์เดียว อาจเพื่อสื่อสารหรือแสดงอาณาเขต
การลดจำนวนลงของพวกมันมีสาเหตุหลักมาจากการถูกล่าโดยสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นสุนัขและแมว และการทำลายแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ ทำให้ถูกคาดการณ์ว่ามันอาจสูญพันธุ์ภายในศตวรรษนี้
3. มังกรน้ำเงิน (The Blue Dragon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glaucus atlanticus หรือที่รู้จักกันในชื่อของ sea swallow, blue glaucus และ blue ocean slug เป็นชื่อของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้น้ำทะเลลึกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหอย แต่รูปร่างลักษณะจะแตกต่างไปจากหอยทั่วไป พวกมันมีขนาดตัวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เป็นสิ่งมีชีวิตที่สวยงามอีกชนิดหนึ่งที่หาพบได้ยาก พวกมันจะกินสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษและพวกมันยังมีเข็มพิษที่เอาไว้ใช้ต่อยได้อีกด้วย
สีน้ำเงินบนตัวพวกมันมีไว้เพื่อพรางตัวให้เข้ากับสีของท้องทะเล ทำให้เหล่านักล่าอย่างนกทะเลมองเห็นพวกมันยากขึ้น
4. ปลาแมนดาริน (Mandarin Fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Synchiropus splendidus เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะลำตัวที่ดูเรียบลื่น เต็มไปด้วยเส้นสาย สีน้ำเงิน สีเขียวทาบทับกันไปมาบนพื้นลำตัวสีส้มเป็นมัน เหมือนกับลายผ้าไหมหรือแพรชั้นดี จนดูละม้ายคล้ายคลึงกับชุดขุนนางจีนโบราณ ปลาแมนดารินมีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 8 เซนติเมตร ตัวผู้มีสีสันสดใส
สีน้ำเงินบนตัวพวกมันเป็นผลมาจากเซลล์ที่มีชื่อว่า cyanophores ซึ่งผลิตเม็ดสีน้ำเงินออกมา
5. กบลูกดอกสีน้ำเงิน (Blue Poison Dart Frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobates tinctorius azureus เป็นสัตว์ที่อยู่ในป่าฝน แถบทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เป็นกบที่มีสีสันสวยงามแต่พิษของมันร้ายแรงมาก พิษของกบลูกดอก 1 ตัว สามารถฆ่าคนได้ถึง 10 คนและหนูถึง 20,000 ตัว พิษของมันเพียง 5 ไมโครกรัม (เท่ากับปลายเข็ม) ก็สามารถฆ่าคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ๆได้พิษของมันถูกนำมาใช้ในลูกดอกอาบยาพิษของอินเดียแดง มันจึงถูกเรียกว่ากบลูกดอก
พวกมันสร้างผิวหนังขึ้นมาสองชั้น ชั้นแรกเป็นสีเหลือง ชั้นที่สองเป็นสีน้ำเงิน แต่พวกมันมักลดการสร้างผิวหนังชั้นที่เป็นสีเหลือง เมื่อแสงส่องกระทบจึงเห็นพวกมันเป็นสีน้ำเงิน
(4314)