หมึกจิ๋วพิษร้าย หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง จัดเป็นหมึกขนาดเล็ก ในสกุล Hapalochlaena ในลำดับหมึกยักษ์ ลักษณะเด่นคือ มีจุดวงกลมสีน้ำเงินหรือสีม่วงตลอดทั้งตัว พวกมันมีขนาด 12-20 เซนติเมตร น้ำหนักราว 28 กรัม อาศัยอยู่ในเขตน้ำอุ่น บริเวณน้ำตื้นที่มีโขดหินและแนวชายฝั่งทะเลแถบอินโด-แปซิฟิก มีสองสายพันธุ์ คือ Hapalochlaena lunulata และ Hapalochlaena maculosa
หมึกบลูริง มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่ มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ําเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ําตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ําเงินเหล่านี้สามารถ “เรืองแสง” ได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในต่างประเทศ
หมึกบลูริง มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ําลาย ผู้ที่ถูกหมึกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นสัตว์น้ําที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ําเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อก ซิน (Tetrodotoxin) ทั้งนี้เตโตรโดท็อกซินไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของหมึก แต่ถูกสร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่กับตัวหมึกบลูริงแบบพึ่งพา (symbiosis)
อาหารหลักคือ สัตว์จำพวกกุ้งและหอย ในยามปกติพวกมันเป็นหมึกรักสงบ แต่เมื่อมีภัยคุกคามจุดสีน้ำเงินบนตัวจะเรืองแสงขึ้นมา เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่ามีพิษ และถ้าศัตรูไม่ยอมถอยมันจะพุ่งเข้ากัดเพื่อป้องกันตัว พิษของหมึกสายวงน้ำเงินจัดเป็นพิษที่แรงมากชนิดหนึ่งของโลก ร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ในน้ำลายของมันมีแบคทีเรียที่สร้างพิษ Tetrodotoxin (TTX) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับปลาปักเป้า
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซิน มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ําเงิน จะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด
ภาพ pen_ash
(142)