ปลาแฟงค์ทูธ อสูรกายใต้ทะเลลึก

Fangtooth

ปลาแฟงค์ทูธ (Fangtooth) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anoplogaster cornuta สิ่งมีชีวิตสุดอันตรายที่สามารถพบได้ในเขตน้ำลึกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก ที่ระดับความลึก 650-16,000 ฟุต

ชื่อของมันมีที่มาจากหน้าตาและลักษณะทางกายภาพอันแสนแปลกประหลาด หัวและกรามขนาดใหญ่ ดวงตาและครีบมีขนาดเล็ก เกล็ดของมันจะฝังอยู่ในผิวหนังและเป็นแผ่นบาง ฟันที่แหลมคมและยาวเรียงตัวกันเหมือนเขี้ยวในปาก เมื่อเทียบกับขนาดตัวที่โตเต็มที่ได้ถึง 18 เซนติเมตร ถือว่าฟันของปลาแฟงค์ทูธมีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อนำมาเทียบกับปลาทั่วไป ปลาแฟงค์ทูธจึงมีอีกชื่อว่า “Ogre Fish”

ภาพโดย MBARI (Monterey Bay Aquarium Research Institute) 

พวกมันมีสีแตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัย คือ ในตอนอายุน้อยลำตัวของมันก็จะเป็นสีเทา มีหนามยาวบนหัว แต่ถ้าอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ลำตัวก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ในกระบวนการสืบพันธุ์ ปลาชนิดนี้มีความถี่และเวลาในการวางไข่ยังไม่เป็นที่แน่นอน เวลาวางไข่พวกมันจะทิ้งไข่เอาไว้ จนไข่ฟักออกมาเอง เมื่อเติบโตจนมีขนาดประมาณ 8 เซนติเมตร พวกมันก็จะว่ายลงไปในน้ำลึกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม และเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยที่มีความยาว 16 ซม. แต่เวลาในการเจริญเติบโตจะช้าเช่นเดียวกับปลาทะเลน้ำลึกชนิดอื่นๆ

ในช่วงที่เป็นตัวอ่อนและวัยเจริญพันธุ์จะอาศัยอยู่บริเวณน้ำที่มีความลึกระหว่าง 660 – 6,560 ฟุต จากนั้นจะมีการโยกย้ายถิ่นเหมือนปลาทะเลลึกชนิดอื่นในช่วงโตเต็มวัย ซึ่งจะพบได้บ่อยบริเวณน้ำลึก 16,000 ฟุต และจะขึ้นมาบนผิวน้ำในเวลาเย็น อาจรวมกันเป็นฝูงหรือมาแค่ตัวเดียวเพื่อหาอาหารและจะกลับลงน้ำลึกในเวลาเช้า

ด้วยการที่มันอาศัยอยู่ใต้ทะเลที่ลึกมากถึง 16,000 ฟุต อีกทั้งเป็นน้ำที่เย็นจัดและมีแรงดันสูง จึงเป็นอุปสรรคทั้งในเรื่องการหาและจำนวนของอาหาร มันจึงกินทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้รูปร่างหน้าตาของปลาแฟงค์ทูธจะดูประหลาด แต่มันกลับมีจุดอ่อนอยู่ที่การมองเห็น เนื่องจากมันมีสายตาที่ค่อนข้างแย่

(1795)