หญิงสาวที่อยู่ในต้นเอล์ม

“Who put Bella in the Wych Elm?”  คำถามนี้ปรากฏในรูปแบบของกราฟฟิตี้บนเสาอิฐสูงตระหง่านที่เมือง Hagley ในเขตวุร์สเตอร์เชอร์ (Worcestershire) ประเทศอังกฤษ ได้หลอกหลอนหมู่บ้านเล็ก ๆ มานานกว่าเจ็ดสิบปี

เรื่องราวเริ่มขึ้นในบ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายนในปี 1943 เด็กชายวัยรุ่นสี่คนจากหมู่บ้านใกล้เคียงกำลังออกล่าหาไข่นกใน Hagley Wood เมื่อพวกเขาพบกับต้นวอทช์เอล์มขนาดใหญ่ ในโพรงกลวงของต้นเอล์มนั้นสิ่งแรกที่พวกเขาเจอคล้ายว่าเป็นกะโหลกของสัตว์ แต่หลังจากที่เห็นผมและฟัน พวกเขาก็รู้ว่ามันเป็นของมนุษย์ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่ากำลังบุกรุกทรัพย์สินของคนอื่น พวกเขาก็เอาหัวกะโหลกกลับเข้าไปในโพรงต้นไม้อย่างเงียบ ๆ และให้สัญญาว่าจะไม่บอกคนอื่นเกี่ยวกับการค้นพบที่น่ากลัว แต่การเก็บความลับเรื่องนี้นั้นหนักเกินไปสำหรับเด็กที่อายุน้อยที่สุด Tommy Willetts เป็นคนบอกพ่อแม่ของเขา และได้แจ้งตำรวจ

หัวกะโหลกที่พบในโพรงของลำต้นวอทช์เอล์ม

เมื่อตำรวจตรวจสอบลำต้นของต้นไม้ พวกเขาไม่พบเพียงแค่กะโหลกเท่านั้น แต่ยังมีโครงกระดูกเกือบสมบูรณ์ กับรองเท้า แหวนแต่งงานทองคำ และเสื้อผ้าบางชิ้น มือที่ถูกตัดขาดจากศพถูกค้นพบว่าถูกฝังไว้บริเวณใกล้ๆ กัน นิติวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงอายุประมาณ 35 ปี และเธอเสียชีวิตมาอย่างน้อย 18 เดือน เศษผ้าในปากของเธอเป็นสาเหตุของการตายที่ทำให้หายใจไม่ออก เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพกล่าวว่าผู้หญิงคนนั้นถูกฆาตกรรมและร่างของเธอถูกผลักเข้าไปในโพรงต้นไม้ขณะที่ร่างของเธอยังอุ่นอยู่ เพราะหากเป็นร่างที่ตายแล้วนั้น การแข็งตัวจะทำให้ไม่สามารถที่จะยัดเข้าไปในที่แคบๆ อย่างโพรงต้นไม้ได้

แม้จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดผ่านบันทึกทางทันตกรรม แต่ตำรวจก็ไม่สามารถระบุเหยื่อได้ เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เต็มไปด้วยความผันผวนของจำนวนผู้คนซึ่งเป็นปัญหาต่อการสืบสวน เพราะมีชายหญิงจำนวนมากที่ย้ายที่อยู่หรือหายสาบสูญไปในระหว่างสงคราม จนในที่สุดการสืบหาตัวตนของเธอก็เริ่มหมดสิ้นหนทาง

กราฟฟิตี้ลึกลับเริ่มปรากฏขึ้นรอบเมือง เป็นคำถามระทึกขวัญว่า: “ใครยัดลูเบลล่าไว้ในต้นเอล์ม?” หรือ “ใครยัดเบลล่าไว้ในต้นเอล์ม?” โดยเขียนด้วยชอล์กเป็นอักษรตัวใหญ่ ซึ่งอาจเขียนด้วยมือของคนคนเดียวกัน

นี่เป็นครั้งแรกที่เหยื่อถูกเรียกชื่อ หมายความว่าศิลปินรู้ว่าเหยื่อเป็นใครและอาจรู้ว่าใครเป็นฆาตกรด้วย หรือบางทีศิลปินกราฟฟิตีลึกลับก็คือฆาตกรที่ล้อเลียนและเยาะเย้ยตำรวจด้วยข้อความของเขา ไม่ว่าศิลปินจะเป็นใคร เขาก็ไม่เคยออกมาปรากฏตัว มีเพียงข้อความที่ยังคงปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน

มันไม่สำคัญว่าเบลล่าจะเป็นชื่อจริงของเหยื่อหรือไม่ ชื่อนี้ถูกจดจำและแม้แต่ตำรวจก็เริ่มใช้นี้ในขั้นต้น และทำให้มีการสืบสวนติดตามโสเภณีในเบอร์มิงแฮมที่ชื่อเบลล่าซึ่งหายตัวไปในปี 1941 แต่ก็ยังสรุปผลไม่ได้

น่าทึ่งที่กราฟฟิตีนี้ไม่เคยเลือนหายไป ความลึกลับของการฆาตกรรมไม่มีวันตายและทศวรรษที่ผ่านมาก็เกิดทฤษฎีใหม่ขึ้นมา นักมานุษยวิทยาชื่อมาร์กาเร็ต เมอร์เรย์ เชื่อว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับเวทมนตร์คาถา เธอยกตัวอย่างให้เห็นว่ามันอาจเป็นประเพณีเก่าแก่ที่จะตัดมือและขังศพไว้ในโพรงต้นไม้ อีกทฤษฎีระบุว่าผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายเป็นสายลับชาวดัตช์ชื่อ Clarabella Dronkers ที่ส่งข้อมูลไปยังพวกนาซีและถูกประหารชีวิตโดยเพื่อนชาวดัตช์ของเธอในข้อหากบฏ

ความทรงจำเกี่ยวกับการฆาตกรรมอันน่ากลัวถูกตอกย้ำอยู่เสมอด้วยกราฟฟิตีที่เกิดขึ้นใหม่ ตั้งแต่ปี 1970 กราฟฟิตีนี้ถูกวาดไว้บนผนังของ “18th century Wychbury Obelisk” ใน Hagley Park บางครั้งสีบนกราฟฟิตีอาจจางหายไป แต่ก็มักมีใครบางคนในเมืองที่ต้องการที่จะให้ความลึกลับมีชีวิตอยู่โดยการสร้างกราฟฟิตีขึ้นใหม่

แม้แต่ตำรวจก็ไม่เคยหมดหวัง ตั้งแต่ปี 1999 มากกว่าครึ่งศตวรรษหลังจากค้นพบศพ แฟ้มคดียังคงเปิดอยู่ และตำรวจวุร์สเตอร์เชอร์ยังคงรอคอยโอกาสในการหาเบาะแสใหม่ๆ แต่พยานส่วนใหญ่เสียชีวิตแล้วจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีเบาะแสใหม่ๆ เกิดขึ้น เราจึงอาจไม่มีวันค้นเจอว่าตัวตนที่แท้จริงของเบลล่านั้นเป็นใคร

ที่มา amusingplanet

(5354)