กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ ๑๒ ห้อง เผยภาพ ประวัติศาสตร์ ศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรูปลักษณ์ใหม่ที่สวยงาม ทันสมัย และยังคงคุณค่าความ สำคัญของมรดกศิลปะชิ้นเอกของชาติ หลังปรับปรุงและพัฒนาการจัดแสดงภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงห้องจัดแสดง นิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ปัจจุบันอยู่ในช่วงการดำเนินงานระยะที่ ๒ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการจัดแสดงใหม่แล้วเสร็จ ๑๒ ห้องจัดแสดง ได้แก่ การจัดแสดงศิลปะงานช่างหลวงในส่วนอาคารหมู่พระวิมาน จำนวน ๑๐ ห้อง และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์อีก ๒ ห้อง ในส่วนของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ รวมเป็น ๑๒ ห้อง
ซึ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการใหม่นี้ ออกแบบภายใต้แนวคิดหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแท้ ของจริง แสดงคุณค่าผลงานชิ้นเอกของมนุษยชาติบนผืนแผ่นดินไทยในแต่ละยุคสมัย รักษาและแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมภายใน พระที่นั่งองค์ต่างๆ จัดวางวัตถุพร้อมออกแบบไฟจัดแสดงให้ผู้ชมเห็นความงาม ๓๖๐ องศา มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการสื่อสารเนื้อหาจากตัววัตถุแก่ผู้ชมอย่างพอเหมาะ โดยไม่รบกวนการจัดแสดงความงามของวัตถุ ได้แก่ ทัชสกรีน วีดีทัศน์ และแอพพลิเคชั่น QR-Code AR-Code
ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ ๑๒ ห้อง ประกอบด้วย
อาคารหมู่พระวิมาน จัดแสดงนิทรรศการศิลปะไทยประเพณี ดังนี้
๑. พระที่นั่งบูรพาภิมุข จัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ ศิลปะงานช่างหลวงประเภทเครื่อง ศัสตราวุธ ประกอบด้วยอาวุธโบราณประเภทต่างๆ ที่เคยใช้ในการสงครามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ ตำราพิชัยสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพร้อมหุ่นจำลองการจัดกระบวนทัพแบบครุฑ ตามตำราพิชัยสงครามดังกล่าว
๒. พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า จัดวางเครื่องเรือนโบราณ ผลงานศิลปะงานช่างหลวงหลายสาขา ที่รวบรวมไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่ต้น จำลองรูปแบบและบรรยากาศพระวิมานที่ประทับในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
๓. พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นล่าง) จัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ภาชนะเครื่องถ้วยในสำรับ สำหรับราชสำนักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
๔. พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข จัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์ ภาชนะเครื่องใช้ประเภทเครื่องโลหะศิลป์ไทย มักสร้างด้วยความประณีต เพื่อถวายพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ เครื่องยศขุนนาง และเครื่องใช้พระสงฆ์ โดยรับแรงบันดาลใจและเทคนิคงานช่างจากนานาชาติเข้ามาผสมผสานภายใต้รูปแบบศิลปะช่างไทย ได้แก่ งานถมเงิน งานถมทอง งานถมปัด งานกะไหล่ งานดุนทอง-เงิน และเครื่องบังกะลอ
๕. พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ คือที่นั่งบนหลังช้าง พาหนะในอดีตของไทย สัปคับนี้นอกจากมีองค์ประกอบวัสดุแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ และสถานภาพผู้ใช้งานแล้ว ยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ จึงประกอบขึ้นด้วยงานช่างประณีตศิลป์หลากหลายสาขา
๖. มุขเด็จ จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก ศิลปะไม้แกะสลักชิ้นสำคัญ ได้แก่ บานประตูพระวิหารวัด สุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ผลงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๗. พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในนิทรรศการ ได้แก่ ฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น
๘. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา
๙. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) จัดแสดงศิลปะเครื่องมุก เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก
ที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นเครื่องใช้ในพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น เครื่องมุกในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๑๐. พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลัง พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้แก่
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเอก สื่อสารเนื้อหาประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองยาวนานถึง ๔๑๗ ปี ทั้งความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่าการค้าของภูมิภาคเอเชีย ความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา ก่อเกิดฝีมือช่างภายใต้ความศรัทธา สะท้อนผ่านพุทธศิลปกรรมอยุธยา อันเป็นเอกลักษณ์ เป็นรากฐานของศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ในยุคต่อมา ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นศิลปะประจำชาติไทยในปัจจุบัน
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อสารประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งของอาณาจักรคนไทยในนามกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านเมืองใหม่บนรากฐานวิทยาการความรู้ ลักษณะสังคม ศิลปกรรมจากครั้งบ้านเมืองยังดี ณ กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา ก่อร่างสังคมไทยใหม่ท่ามกลางสงครามรอบด้าน การค้าขายนานาชาติ สัมพันธไมตรีทางการค้ากับจีน อินเดีย และชาวยุโรป เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) อัตราค่าเข้าชม คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๐๐ บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒
(1179)