14 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของหนังสือชื่อดังที่หลายคนรู้จัก

เชื่อว่าหนังสือทุกเล่มมีความลับซ่อนไว้อยู่ แค่เพียงเราไม่รู้ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี และวันนี้เราตัดสินใจมาแบ่งปันความลับเบื้องหลังหนังสือชื่อดังกับคุณ

    1.  วรรณกรรมสืบสวน Agatha Christie เคยช่วยชีวิตผู้ป่วยในการแพทย์สมัยก่อน
      ถ้าหากคุณคิดว่าการอ่านนิยายสืบสวนไม่ได้ให้ความรู้เชิงปฏิบัติใด ๆ เลยล่ะก็ เรื่องราว The Pale Horse ของ Agatha Christie จะพิสูจน์ว่าคุณผิด ความจริงแล้วภายในเรื่องมีคำอธิบายเกี่ยวกับพิษของแทลเลียมอย่างละเอียด โดยตัวผู้เขียนเองเคยทำงานในโรงพยาบาล และร้านขายยามาก่อน ทำให้ข้อมูลนั้นสามารถช่วยชีวิตคนได้จริงๆ จนกระทั่งในปี 1977 เด็กหญิงคนหนึ่งในโรงพยาบาลลอนดอนกำลังทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่รู้จัก แม้แต่แพทย์ก็ไม่อาจระบุได้ แต่พยาบาลคนหนึ่งเป็นแฟนตัวยงของหนังสือชุดนี้ เธอตระหนักว่าอาการของผู้ป่วยตรงกับอาการโดนสารพิษภายในเรื่อง ดังที่ได้อธิบายไว้ในหนังสือ The Pale Horse ในที่สุดแพทย์ก็สามารถช่วยชีวิตของเด็กหญิงได้


    2.  นวนิยายเรื่อง Fahrenheit 451 ควรที่จะชื่อว่า Celsius 451
      วรรณกรรมแนวดิสโทเปียชื่อดังจนขนาดนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ เขียนโดย Ray Bradbury ซึ่งเขากล่าวว่า ชื่อเรื่อง Fahrenheit 451 นั้นมาจากอุณหภูมิ 451 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งก็คืออุณหภูมิที่ Bradbury บอกว่าหนังสือจะลุกติดไฟได้เอง โดยไม่ต้องมีเชื้อเพลิง แต่ในความจริงก็คือกระดาษจะเผาไหม้ที่อุณหภูมิ 451 องศาเซลเซียสไม่ใช่องศาฟาเรนไฮต์ ในภายหลังผู้เขียนได้ออกมาอธิบายว่า ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากความสับสนระหว่างอุณหภูมิองศาเซลเซียส และองศาฟาเรนไฮต์ ของผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยที่ Ray Bradbury ไปปรึกษาเพื่อเลือกชื่อสำหรับหนังสือของเขา


    3. วลีเด็ดจากนวนิยายเรื่อง “1984” มาจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของสหภาพโซเวียต
      วลีเด็ดอย่าง “two plus two equals five” หรือ สองบวกสองเท่ากับห้า จากนวนิยายชื่อดังเรื่องNineteen eighty four หรือ “1984” หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ มหานครแห่งความคับแค้น ซึ่งถูกใช้อย่างโดดเด่นในบทที่ 7 เชื่อกันว่า วลีนี้มาจากแผนปฏิรูป 5 ปี ของสหภาพโซเวียตในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ 5 ปี ภายในเวลา 4 ปี


    4. ผู้วาดหน้าปกหนังสือเรื่องดังอย่าง The Lord of the Ring ไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้มาก่อน
      Barbara Remington ศิลปินชาวอเมริกันผู้วาดหน้าปกหนังสือฉบับปรับปรุงของ เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในปี 1965 ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ก่อนที่เธอจะส่งผลงานภาพประกอบ เป็นผลให้เราเห็นกบ, จิ้งจก, นกสองตัว และต้นไม้ที่มีหลอดไฟสีชมพู อยู่บนหน้าปกหนังสือ แปลกตามากเลยใช่ไหมล่ะ ยินดีต้อนรับสู่ Middle Earth!


    5. ผู้เขียนวรรณกรรมระดับโลกมีความเห็นว่าหนังสือของเขาเปรียบเหมือนขยะมูลฝอย!
      Leo Tolstoy นักเขียนชาวรัสเซีย มีทัศนคติต่อผลงานชิ้นเอกของเขา เรื่อง War and Peace หรือ สงคราม และสันติภาพ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในเดือนมกราคมปี 1871 เขาส่งจดหมายถึงเพื่อนของเขา Afanasy Fet ซึ่งภายในจดหมายเขากล่าวถึงผลงานเรื่องนั้นเอาไว้ว่า “ฉันมีความสุขแค่ไหน ที่ฉันจะไม่ได้เขียนขยะมูลฝอย เช่น หนังสือเรื่อง War and Peace อีกครั้ง”


    6. Harry Potter เคยถูกปฏิเสธการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์มาแล้ว 12 แห่ง
      แทบจะไม่น่าเชื่อเลยเมื่อแฮรี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมเยาวชนชื่อดังที่ใครๆ ต่างก็รู้จัก ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์มาแล้ว 12 แห่ง ย้อนกลับไปในตอนที่ J.K. Rowling แต่งหนังสือเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ เล่มแรกเสร็จในปี 1995 นั้น เธอได้ยื่นหนังสือเล่มนี้ให้แก่สำนักพิมพ์ไปทั้งหมด 12 แห่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมาทั้ง 12 แห่ง จนกระทั่งในปีต่อมา หนังสือก็ได้รับการอนุมัติจาก Barry Cunningham บรรณาธิการหนังสือจากสำนักพิมพ์ Bloomsbury ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะตกลงยอมตีพิมพ์หนังสือเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ แต่ Cunningham ก็เคยแนะนำ J.K. Rowling ว่าให้หางานรายวันทำ เพราะเธอมีโอกาสทำเงินได้น้อยจากการเขียนผลงานสำหรับเด็กของเธอ


    7. Les Misérables หนังสือที่เป็นตำนานกับการตอบโต้กันระหว่างนักเขียน และสำนักพิมพ์ที่สั้นจนเป็นตำนาน
      ในขณะที่วรรณกรรมคลาสสิกอย่าง Les Misérables หรือ “เหยื่ออธรรม” กำลังถูกตีพิมพ์ ในปี 1862 Victor Hugo นักประพันธ์เรื่องนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงหยุดพักร้อนเช่นเดียวกัน เขาสงสัยผลตอบรับของหนังสือ จึงส่งโทรเลขถึงสำนักพิมพ์ด้วยตัวอักษรเพียงตัวเดียว ก็คือ เครื่องหมาย “?” และทางสำนักพิมพ์ก็ตอบกลับมาด้วย เครื่องหมาย “!” ซึ่งนั่นหมายความว่าหนังสือของเขาประสบความสำเร็จ และมันอาจจะเป็นการตอบโต้กันที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน


    8. เพลง Yo-ho-ho ของโจรสลัดที่เราเคยได้ยินนั้น แท้จริงแล้วเป็นเสียงตะโกนในเวลาทำงาน
      บทเพลงของเหล่าโจรสลัดที่เราต่างเคยได้ยินจากภาพยนตร์อย่าง Pirate of the Caribbean มีวลี “yo-ho-ho and a bottle of rum” อยู่ในนั้น ซึ่งวลีนี้ก็มีรากฐานมาจากบทประพันธ์เพลงแห่งท้องทะเล “Dead Man’s Chest” ของ Robert Louis Stevenson’s ผู้ประพันธ์วรรณกรรมคลาสสิกอย่าง “Treasure Island” หรือ “เกาะมหาสมบัติ” ซึ่งแท้จริงนั้น ‘Yo-ho-ho’ ไม่ใช่เสียงหัวเราะหรือบทเพลงของโจรสลัดอย่างเราเข้าใจ แต่คือบทสวดที่ลูกเรือใช้ในขณะดึงเชือกหรือทำงานอื่นๆ ที่ต้องใช้ทักษะการทำงานเป็นทีม


    9. James Bond ตัวละครสุดเท่ ที่แท้จริงแล้วชื่อของเขานำมาจากชื่อของนักปักษีวิทยา
      Ian Fleming ผู้แต่งซีรีส์ James Bond เริ่มเขียน และหาสิ่งที่จะกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเขา คือ “Casino Royale” ในฐานะที่เป็นนักดูนกตัวยง Fleming พบหนังสือของนักปักษีวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ James Bond เขาคิดว่าชื่อนั้นสั้นมากๆ ไม่มีความโรแมนติก และมีความเป็นผู้ชายมาก ดังนั้นเขาเลยได้แรงบันดาลใจ และตั้งชื่อตัวละครเอกของเขาว่า James Bond ในภาพยนตร์ James Bond เรื่องที่ยี่สิบ ‘Die Another Day’ ตัวละครเอก Bond ได้สอบสวนหนังสือเรื่อง ‘Birds of the West Indies’ ของ James Bond นักปักษีวิทยา ในฉากหนึ่งที่ฮาวานา ประเทศคิวบา ซึ่งฉากนั้นละครเอก Bond ได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง และก็ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นนักปักษีวิทยาเช่นกัน


    10. หนังสือเรื่อง Tom Sawyer ไม่ใช่ผลงานเรื่องแรกที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดของ Mark Twain
      Mark Twain เคยกล่าวว่าต้นฉบับ Tom Sawyer ของเขา พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดเป็นเรื่องแรก แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัย และนักเขียนชีวประวัติของเขาระบุว่าหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดเรื่องแรกคือ Life on the Mississippi


    11. แท้จริงแล้ว อะลาดิน ตัวละครจากอาหรับราตรีมาจากคนจีน
      Aladdin หนึ่งในตัวละครหลักจากเรื่อง อาหรับราตรี (Arabian Nights) หรือ 1001 ราตรี (One Thousand One Nights) ที่ถูกเล่าโดย Scheherazade ในความจริงแล้ว เขาเป็นคนจีนที่อาศัยอยู่ตามถนนที่ประเทศจีน


    12. เหตุการณ์ภายในหนังสือของ Edgar Allan Poe ที่เกิดขึ้นจริงอย่างน่าตกใจ
      ภายในหนังสือเรื่อง The Narrative of Arthur Gordon Pym of Nantucket ของนักเขียนอเมริกัน Edgar Allan Poe นั้น เรื่องราวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการผจญภัยบนท้องทะเล ซึ่งมีฉากหนึ่งหลังจากเหล่ากะลาสีผ่านพายุมรสุมที่โหมกระหน่ำมาได้ และมีกะลาสีเพียง 4 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตมาจากมรสุมครั้งนี้ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่บนแพเล็กๆ จากซากปรักหักพังของเรือโดยปราศจากอาหาร น้ำ และอาวุธใดๆ ด้วยความหิวกระหายจนขาดสติ ในที่สุด พวกเขาตัดสินใจฆ่าคนในกลุ่มของพวกเขาคนหนึ่งเพื่อประทังชีวิต ชายโชคร้ายคนนั้นมีชื่อว่า Richard Parker ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เมื่อฉากนั้นในหนังสือเกิดขึ้นจริง และตรงกับเหตุการณ์ในปี 1884 กลุ่มลูกเรือ 4 คน ต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางทะเล และพบว่าตนเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับหนังสือเล่มนี้ พวกเขากินลูกเรือชื่อ Richard Parker ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาออกมาบอกว่าพวกเขาไม่เคยอ่านวรรณกรรมของ Poe มาก่อน


    13. หนังสือเรื่อง Pride and Prejudice ที่โด่งดังนั้น เคยถูกทิ้งร้างมาถึง 15 ปี ก่อนได้รับการตีพิมพ์
      หนังสือเรื่อง Pride and Prejudice หรือในชื่อภาษาไทยคือ สาวทรงเสน่ห์ นั้น เป็นวรรณกรรมอมตะระดับโลกที่ใครต่างก็รู้จัก แต่รู้หรือไม่ว่าตอนที่ Jane Austen เขียนนวนินายชื่อดังเรื่องนี้นั้น เธอถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ และนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์เป็นเวลานานถึง 15 ปี จนกระทั่งหลังจากนวนิยายเรื่อง Sense and Sensibility ของเธอประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 1811 ผลงานชิ้นแรกของเธออย่าง Pride and Prejudice จึงได้รับการตีพิมพ์


    14. แปลกแต่จริง หนังสือที่ขายดีที่สุดในสหราชอาณาจักรคือ นวนิยายเรื่อง Fifty Shades of Grey
      น่าประหลาดใจมากๆ เมื่อหนังสือที่ขายดีที่สุดตั้งแต่มีการทำสถิติในสหราชอาณาจักรคือ นวนิยายเรื่อง Fifty Shades of Grey ซึ่งขายไปได้มากถึง 5.3 ล้านเล่ม

(2889)