จิ้งจกนิ้วยาว

จิ้งจกนิ้วยาว Cnemaspis lineatubercularis เป็นหนึ่งในสายพันธุ์จิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่หลายชนิดที่ได้รับการค้นพบในประเทศไทย เมื่อปี 2020 โดยทีมนักวิจัยชาวไทยและอเมริกัน

ในปี 2015 ดร.นที อำไพ นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันศึกษาจิ้งจกในสกุล นีมาสพิส (Cnemaspis) เนื่องจากยังมีข้อมูลเกี่ยวกับพวกมันไม่มากนัก จนกระทั่งสามารถจำแนกและระบุชนิดพวกมันได้ หนึ่งในนั้นคือ จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา ที่อาศัยอยู่ในบริเวณผนังหินและซอกหิน บนเขาหินแกรนิตริมลำธารและน้ำตก ในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะที่โดดเด่นคือ ตุ่มบนแนวกระดูกสันหลัง ที่มีการเรียงตัวเป็นเส้นตรงซึ่งเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ รวมถึงแต้มสีเหลืองบริเวณท้อง ขา และหางที่พบได้เฉพาะในเพศผู้เท่านั้น

ความรู้ด้านอนุกรมวิธานและการกระจายพันธุ์ของสัตว์ เป็นข้อมูลสำคัญในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการพิ้นที่อย่างถูกต้อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

(44)