ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโลกนั้นรู้กันดีว่า กระแสน้ำที่ไหลวนเป็นวงกลมรอบทวีปแอนตาร์กติกานั้น เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสน้ำที่สำคัญที่สุดในระบบภูมิอากาศของโลก เพราะมันทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนความร้อนและคุณสมบัติอื่น ๆ ในหมู่มหาสมุทรที่มันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
แต่ความลึกลับของมหาสมุทรไม่ได้มีแค่นั้น เพราะกลไกการแลกเปลี่ยนพลังงานความร้อนระหว่างผิวน้ำกับน้ำลึก ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำนั้นยังคงเป็นปริศนา กระแสน้ำเชี่ยวกรากทำให้เกิดน้ำวนและพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50-200 กิโลเมตร ซึ่งก่อให้เกิดพื้นที่ที่เข้าถึงยากที่สุดในโลก จนทำให้นักวิจัยไม่สามารถเข้าไปศึกษาได้อย่างละเอียด
แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์กลับมามีความหวังอีกครั้ง เมื่อ Lia Siegelman นักวิทยาศาสตร์ใน NASA’s Jet Propulsion Laboratory ที่อยู่ในเมือง Pasadena รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวถึงผู้ช่วยสำคัญ ซึ่งก็คือแมวน้ำช้างแห่งซีกโลกใต้นั่นเอง
ก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบโดยการติดหมวกขนาดเล็กที่มีเสาเซ็นเซอร์พิเศษติดไว้ สำหรับเก็บและส่งข้อมูลทางดาวเทียมให้กับนักวิจัยเมื่อมันเคลื่อนที่ผ่านความลึกชั้นต่างๆ เพื่อให้เราทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำได้มากขึ้นแมวน้ำเหล่านี้เดินทางกว่า 4,800 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ทำการทดสอบ ผ่านกระแสน้ำวนของแอนตาร์กติกและดำน้ำลึกตั้งแต่ 500 – 1,000 เมตรเป็นจำนวนกว่า 80 ครั้งต่อวัน นั่นหมายความว่าเราสามารถใช้ข้อมูลจากเครื่องมือนี้ในการเก็บข้อมูลที่มีความต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี
แมวน้ำช้างจะถูกติดด้วยกาวชนิดพิเศษ ซึ่งจะถูกแกะออกเมื่อพวกมันขึ้นฝั่งเพื่อสืบพันธุ์หรือผลัดขน ซึ่งเป็นไปตามกฎจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จากสัตว์ในการทดลอง หรือหากพวกเขาไม่ได้พบพวกมันหรือแกะออกด้วยตนเอง เครื่องมือนี้ก็จะหลุดออกมาเองเมื่อถึงฤดูกาลผลัดขนครั้งต่อไปนั่นเอง
ที่มา NASA’s Earth Science News Team
ภาพปก แมวน้ำช้างบนเกาะ Kerguelen ของฝรั่งเศส ในโครงการที่เรียกว่า SO-MEMO (Observing System – Mammals as Samplers of the Ocean Environment) Credit: Sorbonne University/Etienne Pauthenet
(933)