รังปลาในแอนตาร์กติกา ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Alfred Wegener Institute บนเรือตัดน้ำแข็ง RV Polarstern ของเยอรมัน ที่ตรวจสอบพื้นทะเลของทะเลเวดเดลล์ในแอนตาร์กติกา กำลังตรวจสอบภาพวิดีโอถ่ายทอดสดจากระบบสังเกตการณ์พื้นมหาสมุทรและการวัดปริมาณน้ำ (OFOBS) ซึ่งเป็นกล้องขนาด 1 ตันที่ลากอยู่ด้านหลังเรือ พวกเขาก็พบว่าทั่วก้นทะเลพื้นที่ 240 ตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยรังปลาที่สร้างห่างกันเป็นระยะประมาณ 10 นิ้ว นับรวมถึง 60 ล้านรัง
รังที่มีลักษณะเหมือนชามเล็ก ๆ ที่ถูกเจาะบนพื้นโคลนใต้ทะเลนี้เป็นของปลาน้ำแข็ง notothenioid (Neopagetopsis ionah) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในมหาสมุทรทางตอนใต้ที่หนาวเย็น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือไม่มีเม็ดเลือดแดง มีแต่เม็ดเลือดขาวเท่านั้น
หลังจากการค้นพบครั้งแรกทีมงานได้ผ่านบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง โดยลากกล้องไปในระดับความลึกที่ตื้นขึ้นเพื่อให้เห็นอาณานิคมในมุมกว้างขึ้น โดยปกติปลาน้ำแข็งมักจะทำรังเป็นกลุ่ม แต่ที่เคยมีการพบเห็นมากที่สุดคือ 40 รัง นีจึงเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นกลุ่มรังปลานำแข็งจำนวนมากขนาดนี้ โดยรังส่วนใหญ่จะมีปลาโตเต็มวัย 1 ตัวคอยดูแลไข่โดยเฉลี่ย 1,700 ฟอง
แต่น่าแปลกที่ฝูงปลาน้ำแข็งดูเหมือนจะมีขอบอาณานิคมชัดเจน เนื่องจากบริเวณขอบนั้นเปลี่ยนจากที่มีรังหนาแน่นมากเป็นความว่างเปล่าในทันที เหมือนมีเส้นเขตแดนที่มองไม่เห็นเหมือนกับอาณานิคมของเพนกวิน
เมื่อลูกปลาน้ำแข็งตัวเล็ก ๆ ฟักออกมาแล้ว มันจะว่ายขึ้นมาใกล้ผิวน้ำเพื่อกินบุฟเฟ่ต์แพลงก์ตอนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนจะกลับไปที่พื้นทะเลอีกครั้งเพื่อผสมพันธุ์ แต่นอกจากรังปลาที่มีชีวิตแล้ว ทีมวิจัยพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยซากปลาเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นเหยื่อของแมวน้ำเวดเดลล์ บ่งชี้ว่ากลุ่มปลาน้ำแข็งขนาดใหญ่นี้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศในท้องถิ่น
การค้นพบอาณานิคมได้นำไปสู่ความพยายามที่จะทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลภายใต้คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลแอนตาร์กติก
ภาพ Alfred Wegener Institute
(56)