พื้นผิวของดาวศุกร์ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหนาทึบและเป็นพิษที่เรียกว่า Venusian ทำให้พื้นผิวของดาวศุกร์เรียกได้ว่าแทบเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมามีความพยายามหลายครั้งจากนานาชาติในการถ่ายภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้มาตลอด ตั้งแต่ภารกิจ Magellan ของ NASA ที่สำรวจผ่านก้อนเมฆด้วยลำแสงเรดาร์ในช่วงปี 1990, ยานสำรวจดาวศุกร์ Akatsuki ของญี่ปุ่น ที่พยายามใช้รังสีอินฟราเรดถ่ายภาพทะลุเมฆหนานี้ ไปจนถึงภาพถ่ายเพียงภาพเดียวจากการลงจอดระยะสั้น ๆ ของยาน Venera ของโซเวียตในปี 1970
แต่ภาพที่น่าทึ่งที่สุดกลับถ่ายได้โดย Parker Solar Probe ของ NASA ที่โฉบผ่านดาวศุกร์เป็นครั้งที่ 4 เพื่ออาศัยแรงเหวี่ยงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งเผยให้เห็นพื้นผิวดาวศุกร์ในแบบที่ไม่เคยมีการถ่ายภาพได้มาก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้พบเห็นลักษณะทางธรณีวิทยา อาทิ แผ่นทวีป ที่ราบ และที่ราบสูง ที่ส่องสว่างในแสงจาง ๆ ของพื้นผิวดาวศุกร์ยามค่ำคืนได้ด้วยตาเปล่า
แม้ว่าพื้นผิวของดาวศุกร์จะเคยถูกถ่ายภาพมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องอาศัยเทคโนโลยีในการแปลงข้อมูลจากกล้องให้เป็นรูปภาพ ทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่มันถูกถ่ายด้วยแสงที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้เลยโดยไม่ต้องแปลงข้อมูล
เครื่องมือ WISPR ของ Parker Probe ไม่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงดาวศุกร์เลยเพราะมันสร้างขึ้นเพื่อศึกษาบรรยากาศของดวงอาทิตย์และลมสุริยะเท่านั้น แต่ความไวของเครื่องมือทำให้สามารถจับภาพแสงสีแดงจาง ๆ ที่ปล่อยออกมาจากดาวเคราะห์ในเวลากลางคืนได้โดยบังเอิญ ซึ่งในเวลากลางวัน แสงสีแดงเหล่านี้จะหายไปเพราะแสงแดดที่สะท้อนจากเมฆของดาวศุกร์ แต่การบินผ่านตอนกลางคืนทำให้ยานสำรวจสามารถจับแสงที่นุ่มนวลของดาวเคราะห์ได้
ภาพที่ถ่ายได้ล่าสุด (ซ้าย) เทียบกับภาพหลังจากการแปลงข้อมูลโดยคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาทำแผนที่ดาวเคราะห์ในภารกิจ Magellan (ขวา)
(75)