เราคุ้นเคยกันดีกับเจ้าแปดหนวดที่เต็มไปด้วยปุ่มดูดมากมายอย่างหมึก แต่พวกมันและพี่น้องร่วมสายพันธุ์กลับมีความลับที่เราไม่อาจจินตนาการได้ซุกซ่อนไว้ นั่นคือวิวัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เกือบทั้งหมดในโลก
ในเดือนเมษายน 2017 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหมึกยักษ์ (Octopuses) 8 ตัวพร้อมกับหมึกเล็ก (Squid) และหมึกกระดอง (Cuttlefish) บางสายพันธุ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับ RNA (กรดไรโบนิวคลีอิก) ของพวกมันให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้
นี่เป็นเรื่องแปลกเพราะนั่นไม่ใช่วิธีการปรับตัวที่มักเกิดขึ้นในสัตว์หลายเซลล์ เพราะสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะพื้นฐาน โดยเริ่มจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม คือการเปลี่ยนแปลงของ DNA
เมื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ DNA จะเป็นผู้สร้างสูตรอาหารขึ้น ในขณะที่ RNA จะทำหน้าที่เป็นเชฟที่จัดการการผลิตอาหารภายในครัว เพื่อสร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการทำงานขององค์ประกอบภายในเซลล์ แต่ RNA ไม่เพียงแค่ทำตามสูตรเท่านั้น – ในบางครั้งมันจะปรับปรุงส่วนประกอบบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนโปรตีนที่ผลิตขึ้น ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า การเปลี่ยนแปลง RNA
เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น มันสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของโปรตีนในร่างกาย ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถปรับรูปแบบทางพันธุกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านการกลายพันธุ์ของ DNA
แต่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้วิธีการนี้มากนักเนื่องจากมันยุ่งยากและทำให้เกิดปัญหาบ่อยเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
ในปี 2015 นักวิจัยค้นพบว่าหมึกทั่วไปมีการเปลี่ยนแปลง RNA มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบประสาท ซึ่งทำให้โครงสร้างทางสรีรวิทยาของสมองเปลี่ยนไป โดยสันนิษฐานว่ามันปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาวะอุณหภูมิต่าง ๆ ในมหาสมุทร
นอกจากหมึกแล้ว ในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบสิ่งที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งคือ หอยทากและทากสวนก็มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง RNA ของพวกมันได้เช่นกัน
นักวิจัยวิเคราะห์ RNA หลายแสนตำแหน่งในสัตว์อันดับย่อย Coleoid และพบว่าการเปลี่ยนแปลง RNA ทำให้พวกมันฉลาดขึ้น
แต่ในแง่ของวิวัฒนาการจีโนมิกส์ (Genomics) ทั่วไป หมึกกลับพัฒนาอย่างเชื่องช้า ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่านี่ถือเป็นการเสียสละที่จำเป็น หากคุณต้องการการพัฒนาด้านอื่นที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมากกว่า
ในขั้นตอนต่อไปทีมนักวิทยาศาสตร์จะพัฒนาแบบจำลองพันธุกรรมของหมึกยักษ์เพื่อให้พวกเขาสามารถติดตามได้ว่ากระบวนการสุดอัศจรรย์นี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
ที่มา: sciencealert
(1753)