นักวิทยาศาสตร์คิดค้นผ้าพันแผลที่จะเปลี่ยนสีเมื่อมีปริมาณแบคทีเรียเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นักวิทยาศาสตร์จาก Chinese Academy of Science ได้พัฒนาผ้าพันแผลอัจฉริยะรูปแบบใหม่ ที่สามารถจับสัญญาณการคุกคามของแบคทีเรีย ทำหน้าที่คล้ายสัญญาณไฟจราจรเพื่อปล่อยยาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ปกป้องแผลจากเชื้อโรคและทำให้แผลหายไวขึ้น

สีของผ้าพันแผลนี้จะใช้หลักการเดียวกับสัญญาณไฟจราจร โดยสีเขียวหมายถึงมีแบคทีเรียปริมาณต่ำ หรือปลอดเชื้อ สีเหลืองหมายถึงตรวจพบแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ (drug-sensitive -DS)  ซึ่งจะทำให้ผ้าปล่อยยาปฏิชีวนะออกมา และสีแดงจะหมายถึงแผลกำลังถูกคุกคามโดยแบคทีเรียดื้อยา (drug-resistant -DR)  ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และยิ่งมีสีที่เข้มขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งหมายถึงปริมาณแบคทีเรียที่มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งจากการทดลองในหนู พบว่าผ้าพันแผลนี้สามารถทำงานได้ดีในการทดสอบกับแบคทีเรียทั้งสองชนิด

หากตรวจพบการดื้อยา จะสามารถใช้ลำแสงความเข้มสูงเพื่อเปิดใช้งานการปล่อยออกซิเจน ที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียอ่อนแอลงและไวต่อยาปฏิชีวนะในวัสดุมากขึ้น

ยาปฏิชีวนะจะถูกปล่อยออกมาทันทีที่ตรวจพบการติดเชื้อ และเนื่องจากการดื้อยาปฏิชีวนะสามารถตรวจจับได้ทันที จึงหมายความว่าการรักษาเพิ่มเติมจะเกิดขึ้นทันทีก่อนที่แบคทีเรียจะมีโอกาสกลายพันธุ์และป้องกันตัวเองต่อไป

ผ้าพันแผลนี้จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้แผลสะอาดและหายได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างแผลไฟไหม้ และแผลเปิดอื่นๆ โดยทีมวิจัยจะพัฒนาต่อไปเพื่อให้ผ้าพันแผลนี้มีต้นทุนที่ต่ำลงและเข้าถึงได้มากขึ้น

ที่มา science alert ACS Central Science

(464)