เรียกร้องความสนใจ? ขาดความรัก? นี่คือสิ่งที่หลายคนอาจคิดเมื่อพบผู้ที่อยู่คนเดียวแล้วมักจะมีอาการใจสั่นมือสั่น เหงื่อออกมาก ฯลฯ แต่เมื่อตรวจร่างกายกลับไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
นั่นคือก่อนที่คนทั่วไปจะรู้จักกับโรคที่เรียกว่า “แพนิค” โรคนี้เกิดขึ้นจากฮอร์โมนที่ลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วนทำงานผิดปกติ จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ หรือรู้สึกใจสั่นรุนแรงจนเหมือนกับจะขาดใจเลยทีเดียว
อาการแพนิคแต่ละครั้งจะกินเวลา 10-20 นาที โดยครั้งแรกมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว มีอาการคล้ายกับโรคหัวใจจึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวล และเกิดอาการซ้ำได้ง่ายเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายเดิม หรือเมื่อต้องอยู่ตามลำพัง จนอาจเรียกได้ว่า ยิ่งเป็นก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัวก็ยิ่งเป็น
หากสงสัยว่าตนเองมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ หากไม่พบความผิดปกติจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค ซึ่งรักษาได้ด้วยการกินยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ไปจนถึงการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถลดความวิตกกังวลของตนเองด้วยการฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเปาโล
(1746)