แม่หอบ สัตว์ผสมคล้ายกุ้งและปู

ใครเคยเห็นตัวจริงบ้าง แม่หอบ หรือ จอมหอบ (Mud lobster, Mangrove lobster) เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง ในสกุล Thalassina ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนหรือเมื่อ 16 ล้านปีก่อน

การที่ได้ชื่อในภาษาไทยว่า “แม่หอบ” เนื่องจากมีความเชื่อว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ จึงนิยมนำมาเผาไฟรับประทานกันในอดีต สอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ Thalassina ที่หมายถึง “การย้อนกลับทางเดินหายใจ” เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก

พวกมันมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปู โดยขาคู่แรกขนาดใหญ่คล้ายก้ามปู นอกจากใช้เดินแล้วยังทำหน้าที่ขุดรูและขนดินสร้างรัง หัวเหมือนกุ้งมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีแดงเข้มเป็นปล้อง ๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหาง ลักษณะคล้ายแมงป่อง มีขนาดความยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร

มันมีถิ่นอาศัยตามป่าชายเลน โดยจะขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูงแล้วอาศัยอยู่ในรูใต้กองดินนั้น สามารถอยู่บนบกได้เป็นเวลานานกว่าครัสตาเซียนจำพวกอื่น ๆ กินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในเวลากลางคืน

ในประเทศไทยพบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันพบได้ยากมาก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่ทำให้ประชากรลดลง ในต่างประเทศพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น ไปจนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว

สถานะปัจจุบันของแม่หอบ ถือได้ว่าใกล้ต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบางตายง่าย เช่น ในช่วงฤดูมรสุมน้ำทะเลอาจท่วมรูของแม่หอบ จนทำให้แม่หอบตายได้

ภาพ Ron Yeo

(567)