หิมะเรืองแสง Vera Emelianenko นักชีววิทยาที่ทำงานอยู่ในสถานีวิจัยริมชายฝั่งทะเลขาว ในพื้นที่อาร์กติกของรัสเซีย พบปรากฏการณ์หิมะเรืองแสงสีฟ้า
ขณะที่เธอเดินลัดเลาะไปตามตลิ่งน้ำแข็งของเขตน้ำขึ้นน้ำลง ท่ามกลางลมอาร์กติกอันรุนแรง ร่วมกับ Mikhail Neretin ลูกชายของเพื่อนร่วมงาน และสุนัขอีกสองตัว เธอพบว่าตามรอยเท้าที่เธอย่ำผ่านจะเกิดแสงสีฟ้าขึ้น เธอจึงก้มลงหยิบขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วบีบเบา ๆ ก้อนหิมะก็สว่างขึ้น
หลังจากที่เธอให้ข้อมูลกับนักวิจัยอื่นๆ เหล่านักวิจัยหลายคนก็เดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงให้ Alexander Semenov ช่างภาพประจำสถานีวิจัยถ่ายรูปไว้ด้วย
เธอนำหิมะเรืองแสงไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จนพบว่า แสงสีฟ้าเหล่านี้เกิดจาก Copepod เมื่อเธอสะกิดพวกมันก็จะเรืองแสงสีฟ้าขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บันทึกคำอธิบายเกี่ยวกับหิมะที่เรืองแสงในแถบอาร์กติก ซึ่งนักวิจัยเคยพบเห็นเป็นครั้งคราวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เคยมีการวิเคราะห์อย่างจริงจังมาก่อน
Copepod สายพันธุ์ Metridia longa คือแพลงก์ตอนจำพวกคลัสเตเชียนขนาดจิ๋ว ที่แพร่กระจายไปในทะเลขั้วโลกเหนือตามกระแสน้ำที่พัดพาไป โดยแสงสีฟ้าของมันจะยังคงเกิดขึ้นได้ไม่ว่ามันจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ เช่นเดียวกับแมลงเรืองแสงอื่น ๆ อย่างหิ่งห้อย เนื่องจากสารเรืองแสงในตัวพวกมันจะยังคงอยู่จนกว่าจะย่อยสลายไปจนหมด
(292)