กะพรุนยักษ์แฟนทอม กะพรุนน้ำลึกหายาก

กะพรุนน้ำลึก วิดีโอบันทึกภาพของกะพรุนยักษ์แฟนทอม (Giant Phantom Jellyfish) ที่จับภาพได้ที่ระดับความลึก 990 เมตร พวกมันพบเห็นได้ยากมาก โดยตลอดระยะเวลา 34 ปีของการส่งหุ่นยนต์สำรวจในโครงการสำรวจใต้น้ำลึกของ Monterey Bay Aquarium Research Institute (MBARI) ทีมสำรวจพบมันแค่เพียง 9 ครั้งเท่านั้น

เมื่อ 10 ธ.ค. 64 เว็บไซต์เมโทร รายงาน ทีมนักชีววิทยาทางทะเลของสถาบันวิจัยทางทะเล (Monterey Bay Aquarium Research Institute) MBARI ในสหรัฐอเมริกา ต้องตกตะลึง เมื่อได้เจอกับแมงกะพรุนยักษ์ Giant Phantom จนนึกว่าเป็นผี ผ่านทางกล้องถ่ายรูปใต้น้ำ ระหว่างการใช้ยานสำรวจใต้ทะเลลึก ROV Tiburon ลงสำรวจใต้ทะเลลึก ที่บริเวณอ่าวแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ

ทีมนักชีววิทยาทางทะเลของสถาบัน MBARI คาดว่า แมงกะพรุนยักษ์ตัวนี้ มีส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อทรงกระดิ่ง (bell) มีขนาดความกว้างกว่า 1 เมตร และมีส่วนที่เป็นรยางค์ คล้ายแขนที่มีลักษณะคล้ายกับริบบิ้น อีก 4 เส้น ซึ่งรยางค์แต่ละเส้นมีความยาวนับ 10 เมตร ที่คาดว่าใช้ในการจับเกี่ยวอาหารก่อนจะลากเข้าปาก

แมงกะพรุนยักษ์ตัวใหญ่เหลือเชื่อ Giant Phantom ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมงกะพรุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกตัวนี้ มีขนาดริบบิ้นที่ยาวสยายอยู่ใต้ทะเล มีความยาวเท่ากับฉลามวาฬที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 33 ฟุต หรือ 10 เมตร

ตามปกติแล้ว จะพบ แมงกะพรุนยักษ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทรที่เข้าใจยากมากที่สุด ในบริเวณใต้ทะเลลึกราว 1,000-4,000 เมตร จนทำให้นักชีววิทยาทางทะเลเรียกแมงกะพรุนว่า พวกมันอาศัยอยู่ในแดนสนธยา อีกทั้งนักชีววิทยาทางทะเลได้เคยเห็นแมงกะพรุนยักษ์ เพียงแค่ประมาณ 100 ครั้ง นับตั้งแต่เห็นมันครั้งแรกในปี 1989

(981)