เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน Roger Penrose นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษได้เสนอแนวคิดการนำพลังงานมหาศาลจากหลุมดำมาใช้ โดยการหย่อนวัตถุลงในบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างขอบฟ้าเหตุการณ์ด้านนอกกับจานพอกพูนมวลที่หมุนอย่างรวดเร็ว
เมื่อวัตถุถูกหย่อนลงไป วัตถุนั้นจะเคลื่อนที่เร็วกว่าแสงและจะได้พลังงานลบ (negative energy) มาเก็บไว้ในตัว หากเราทำให้วัตถุนั้นตกลงไปในหลุมดำครึ่งหนึ่ง และดึงกลับขึ้นมาอีกครึ่งหนึ่ง การเคลื่อนที่ถอยกลับจะทำให้วัตถุครึ่งที่ถูกดึงกลับมามีพลังงานจากการหมุนของหลุมดำ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ในปี 1971 Yakov Borisovich Zeldovich นักฟิสิกส์ชาวรัสเซียได้เสนอวิธีทดสอบแนวคิดของเพนโรส โดยการยิงคลื่นแสงที่ถูกบิด (twisted light waves) ให้ไปตกกระทบและสะท้อนออกจากวัตถุทรงกระบอกที่หมุนเร็วถึง 1 พันล้านรอบต่อวินาที เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพลังงานคลื่นแสงที่สะท้อนกลับมา
แต่ในการทดลองครั้งล่าสุดของทีมนักฟิสิกส์มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในสหราชอาณาจักร ได้เปลี่ยนไปใช้คลื่นเสียงแทนคลื่นแสง โดยใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงไปยังจานโฟมดูดซับเสียงที่หมุนด้วยความเร็วสูง และวัดความเปลี่ยนแปลงของพลังงานคลื่นเสียงที่ผ่านจานหมุนออกมาในรูปของปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler effect)
ผลปรากฏว่าคลื่นเสียงที่ผ่านออกมามีแอมพลิจูด (amplitude) หรือความสูงของคลื่นระหว่างยอดคลื่นถึงท้องคลื่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คลื่นเสียงมีความเข้มและดังยิ่งขึ้น แสดงถึงการได้รับพลังงานกลับมามากขึ้นนั่นเอง
(1485)