ว่านหอม ไม้มงคลคลายเครียด

         ทางอีสานแทบทุกจังหวัดนิยมปลูกว่านหอมไว้หน้าบ้าน เป็นทั้งว่านศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตามหานิยม เป็นเครื่องหอม เป็นสมุนไพร และเป็นอาหาร เชื่อกันว่าว่านหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ มีพลังในการปราบมารหรือภูตผีปีศาจ โดยเล่าว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ มีมารมาผจญ พระแม่ธรณีต้องบีบมวยผมเพื่อให้น้ำท่วมมาร พระพุทธเจ้าได้ประทานว่านหอมนี้ลงไปในน้ำเพื่อปราบมารนั้นด้วย ดังนั้นในการขับไล่ผีของชาวบ้านอีสานในสมัยก่อน จะใช้ว่านหอมแช่น้ำให้คนไข้กิน และเชื่อกันว่าไม้ที่มีกลิ่นหอมเป็นไม้ของเทพ ว่านหอมจึงเป็นไม้มงคล

ยาสระผมของคนอีสานจะมีการใช้ใบว่านหอมผสมกับใบส้มโมง, แน่งหอม, เนียม และขมิ้น ต้มกับน้ำมวก ใช้น้ำที่ได้ไปสระผมโดยไม่ต้องใช้ยาสระผมในท้องตลาด ผมจะดกดำเป็นเงางามและมีกลิ่นหอมติดเส้นผม อันเป็นที่มาของตำนานนางผมหอมอันโด่งดังของเมืองเลย และว่านหอมยังเป็นยาแก้รังแคชั้นดี โดยโขลกทั้งหัวและใบ คั้นเอาแต่น้ำ ใช้บำรุงผมกำจัดรังแค

จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า ว่านหอมมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งว่านหอมเป็นพืชตระกูลขิง ข่า พืชตระกูลนี้มักมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบจึงนิยมใช้ทำลูกประคบหรือเคี่ยวกับน้ำมันไว้ทาแก้ปวดเมื่อย

คนสมัยก่อนจะใช้ว่านหอมในการปวดหัวตึบๆโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีความเครียด โดยจะโขลกทั้งหัวและใบใส่น้ำลงไปพอชุ่มเอาผ้าไปชุบ แล้วนำผ้าไปคลุมหัวไว้ หรือใช้หัวตำคั้นเอาน้ำ ผสมแป้งหรือผสมกับว่านหูเสือ เป็นแป้งหรือดินสอพองทาที่ขมับแก้ปวดหัว รวมทั้งมีการผสมใส่ลงในยาหอมเพื่อบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ทั้งยังมีการแนะนำให้ใช้หัวว่านหอมต้มหรือชงกินเพื่อช่วยทำให้นอนหลับคลายเครียด

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า สารสกัดจากหัวว่านหอมทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว บรรเทาอาการปวดท้องได้ และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของว่านหอมพบว่า ว่านหอมมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ดูดกลืนแสงUV มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและรา เป็นต้น

 

 

(2743)