ดอกไม้ที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่เราไม่เคยได้เห็นมันบ่อยนัก .. “ดอกข่า” ที่มีหน้าตาคล้ายกล้วยไม้

เมื่อแอดมิน ลงลุยสวนครัวหลังบ้านเพื่อหาพืชผักสวนครัวมาทำกับข้าว สิ่งที่ค้นพบในสวนครัวคือ .. “ดอกข่า” ที่สวยงามไม้แพ้ดอกกล้วยไม้ เราเด็ดมาปักแจกัน แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เพราะดอกมันร่วงโรยเร็วเหลือเกิน

โดยทั่วไป เราใช้หน่อข่าที่ฝังอยู่ใต้ดินมาทำกับข้าว นำดอกทานสดจิ้มกับน้ำพริก หน่อข่าตำผสมในเครื่องแกงเผ็ด หรือนำไปฝานบางๆ หรือทุบทั้งหัวใส่ไปในไก่ต้มข่า เป็นเครื่องเทศที่มีสรรพคุณทางยา

ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า มีบทบาทในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา

หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือนเรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปีจัดเป็นข่าแก่ ปริมาณน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3% หน่อข่าอ่อนทั้งสดและลวกใช้จิ้มหลนและน้ำพริก นำมายำ

ข่ายังมีฤทธิ์ทางยา เหง้าแก่แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ดอกใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ผลช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียน อาเจียน ต้นแก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง ข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน

(9047)