การงีบหลับสำหรับในบางประเทศถือเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความขี้เกียจ แต่ในขณะเดียวกันสำหรับประเทศญี่ปุ่น การงีบหลับขณะทำงานถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงยิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะคิดว่าการงีบหลับระหว่างวันจะถูกมองอย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้แนะนำว่าการงีบเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเพราะช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและสภาพจิตใจให้รู้สึกสดชื่นเพื่อเตรียมพร้อมทุกกิจกรรมในแต่ละวัน โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำระยะเวลาในการงีบหลับ เพื่อให้เหมาะแก่กิจกรรมในการดำเนิดชีวิตของแต่ละคน
การงีบ 10 – 20 นาที : ให้ร่างกายได้รับการกระตุ้น
นอกจากทำให้ร่างกายตื่นตัว ยังช่วยฟื้นพลังงานให้มีแรงมากขึ้นอีกด้วย โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับคือช่วงประมาณ 15.00 – 16.00 น. จะช่วยลดความอยากกินอาหารและลดฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความเครียดซึ่งเมื่อร่างกายลดความอยากอาหารและความเครียดก็ช่วยให้น้ำหนักลดลลงได้
การงีบ 30 นาที : บอกลาความเหนื่อยล้า
แม้การหลับในเวลาเพียง 30 นาที จะยากต่อการตื่น แต่ผลของมันก็คุ้มค่า เพราะการงีบหลับในระยะเวลานี้ จะช่วยเพิ่มการทำงานของระบบการจำ ลดความเครียด เพิ่มสมาธิในการจดจ่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าช่วงเวลาในการงีบหลับในระยะเวลานี้ ควรงีบหลับในตอนกลางวัน เนื่องจากสมองต้องการฟื้นฟูหลังจากได้นอนเป็นเวลา 7 – 8 ชั่วโมงแล้ว
การงีบ 60 นาที : ทำให้กระบวนการคิดและการจำดีขึ้น
หากงานที่คุณทำส่งผลกระทบต่อจิตใจ การงีบหลับระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจ ช่วยปลดล็อกสมอง เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และเพิ่มความสามารถในการจดจำ แต่การงีบเป็นระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงจะทำให้ร่างกายใช้เวลาสักพักหลังตื่นก่อนจะรู้สึกสดชื่นขึ้น
การงีบ 90 นาที : เติมเต็มช่วงเวลาการนอน
ดร. Sara Mednick ได้กล่าวไว้ว่า การงีบ 90 นาที เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ช่วยเพิ่มการจดจำ และทำให้ระบบการคิดสร้างสรรค์เราดียิ่งขึ้น โดยข้อดีของการงีบหลับระยะเวลานี้ จะช่วยทำให้เมื่อเราตื่นมาจะไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน
(428)